อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ สั่งการเจ้าหน้าที่เร่งสืบการเสียชีวิตของทารกแรกเกิดในโรงพยาบาลเอกชน ย่านพญาไท หลังญาติร้องโรงพยาบาลไร้คำชี้แจงสาเหตุการเสียชีวิต เบื้องต้นเตรียมส่งข้อมูลที่ได้เข้าสภาวิชาชีพตรวจสอบมาตรฐานการรักษา ก่อนเชิญทุกฝ่ายมาให้ถ้อยคำเพื่อความเป็นธรรม
จากกรณี สามี-ภรรยา ร้องเรียนโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ในเขตพญาไท ให้ชี้แจงสาเหตุการเสียชีวิตของลูกชายวัยแรกเกิด โดยผู้ร้องระบุว่าจากการชันสูตรศพลูกชายพบว่า เด็กมีร่างกายและอวัยวะทุกส่วนสมบูรณ์แต่มีอาการปอดทะลุหลายจุด จึงนำกลุ่มบิ๊กไบค์ และขบวนรถมาเรียกร้องให้ทางโรงพยาบาลเอกชนดังกล่าว ชี้แจงการเสียชีวิตของลูกชายนั้น
บ่ายวันที่ 26 ตุลาคม 2564 นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า จากกรณีดังกล่าวต้องขอแสดงความเสียใจกับคุณพ่อ-แม่ที่ต้องสูญเสียลูกชาย ซึ่งกรม สบส.ก็มิได้นิ่งนอนใจต่อการสูญเสียในครั้งนี้ จึงได้สั่งการให้พนักงานเจ้าหน้าที่จากกองกฎหมาย เข้าตรวจสอบข้อเท็จจริง ณ โรงพยาบาลเอกชน ย่านพญาไท โดยในวันนี้พนักงานเจ้าหน้าที่ฯ ได้ลงพื้นที่รวบรวมพยาน หลักฐาน และตรวจสอบเอกสารทางการแพทย์ เวชระเบียนของโรงพยาบาลฯ ซึ่งในเบื้องต้นทางโรงพยาบาลฯ ชี้แจงว่าเหตุเกิดเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ทารกเพศชายที่คลอดออกมามีอาการตัวซีดฟังเสียงหัวใจไม่ได้แพทย์จึงช่วยเหลือใส่ท่อช่วยหายใจ พร้อมเคลื่อนย้ายไปที่แผนกห้องเด็กอ่อนและมีการทำ CPR แต่เด็กไม่ตอบสนองต่อการรักษา และเสียชีวิตในเวลาต่อมา ซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ฯ จะนำข้อมูลที่รวบรวมได้ทั้งหมดเสนอต่อสภาวิชาชีพ ให้ตรวจสอบในส่วนของการให้บริการว่า ในขณะที่เกิดเหตุแพทย์และผู้เกี่ยวข้องของโรงพยาบาลฯ มีการดำเนินการอย่างถูกต้องตามมาตรฐานวิชาชีพหรือไม่ พร้อมกับจะเชิญผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายมาให้ถ้อยคำกับคณะอนุกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียน เพื่อสืบสวนหาสาเหตุการเสียชีวิตของทารก และให้ความเป็นธรรมแก่ทั้งสองฝ่ายโดยเร็วที่สุด
นายแพทย์ธเรศฯ กล่าวต่อว่า ด้วยสตรีมีครรภ์ถือเป็นกลุ่มเปราะบางที่มีสุขภาพ ร่างกายที่อ่อนแอกว่าบุคคลทั่วไป จึงมีความเสี่ยงด้านสุขภาพ ทั้งการเกิดภาวะโรคแทรกซ้อน อันตรายระหว่างการคลอด หรือสุ่มเสี่ยงที่จะติดโรคติดต่ออันตรายอย่างโรคโควิด 19 ดังนั้น เพื่อมิให้เกิดเหตุที่ไม่คาดคิด หรือเกิดผลกระทบต่อผู้ป่วยในระหว่างการรักษาพยาบาล กรม สบส.ขอเน้นย้ำให้ผู้ประกอบกิจการ และผู้ดำเนินการสถานพยาบาลทุกแห่งกำชับกับบุคลากรของตนให้ดำเนินการกับสตรีมีครรภ์ทุกรายด้วยความระมัดระวัง ใส่ใจ ดูแล อย่างใกล้ชิด รวมถึง จะต้องมีการสื่อสารแนวทางการรักษาพยาบาลกับผู้ป่วยหรือญาติ ด้วยความโปร่งใส และชัดเจน เพื่อความเข้าใจต่อระบบบริการและการรักษาทางการแพทย์ ซึ่งหากผู้ป่วยและญาติไม่เข้าใจก็อาจจะนำไปสู่ข้อพิพาท หรือเรื่องร้องเรียนต่อไปได้ ทั้งนี้ หากประชาชนท่านใดไม่ได้รับความเป็นธรรมจากบริการของสถานพยาบาลเอกชน สามารถร้องเรียนได้ที่สายด่วนกรม สบส. 1426
#สมาคมหนังสือพิมพ์ส่วนภูมิภาคแห่งประเทศไทย