ตามนโยบายของรัฐบาลโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดำเนินการปราบปรามคนร้ายข้ามชาติและการกระทำผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจและลดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับพี่น้องประชาชน เนื่องจากปัจจุบันคนร้ายได้ถือโอกาสช่วงที่เกิดผลกระทบจากปัญหาในช่วงไวรัสโควิด-19 หลอกลวงนำคนเข้ามาใช้แรงงานโดยผิดกฎหมาย และยังเป็นพฤติกรรมเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งลักษณะดังกล่าวเป็นภัยต่อประเทศ ในการนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยศูนย์พิทักษ์เด็ก สตรี ครอบครัว ป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ และภาคประมง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศพดส.ตร.) ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิบัติหน้าที่ในการสืบสวนและปราบปรามอาชญากรรมในรูปแบบดังกล่าวอย่างจริงจัง
วันอังคาร ที่ 26 ตุลาคม 2564 เวลา 17.00 น.
พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รอง ผบ.ตร./ผอ.ศพดส.ตร. , พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้ช่วย ผบ.ตร. /รอง ผอ.ศพดส.ตร., พล.ต.ท.จิรพัฒน์ ภูมิจิตร ผบช.ภ.1 มอบหมาย พล.ต.ต.พนัญชัย ชื่นใจธรรม รอง ผบช.ภ.1 พร้อม NGO พงส.ปคม., เจ้าหน้าที่สืบสวนสอบสวน ศพดส.ตร. และเจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงาน ร่วมกันสังเกตการณ์ซักปากคำผู้ต้องหา จำนวน 2 คน เครือข่ายค้ามนุษย์และเป็นองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ ร่วมขนเหยื่อชาวโรฮินจาไปประเทศที่3 โดยมีการกักขัง ทรมานเหยื่อ เพื่อเรียกเงินเพิ่ม จนเป็นเหตุให้เด็กหญิงชาวโรฮินจาเสียชีวิต ณ ห้องประชุม สภ.บางบัวทอง
เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2564 เวลา 16.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจทางหลวง สังกัด ส.ทล.3 กก.2 บก.ทล. ได้ร่วมกันจับกุมผู้ต้องหาเป็นคนไทยจำนวน 2 ราย ได้แก่ ชาย อายุ 57 ปี และหญิง อายุ 60 ปี โดยกล่าวหาว่า “ร่วมกันซ่อนเร้น หรือช่วยด้วยประการใดๆ ให้คนต่างด้าวฯหลบหนีเข้ามาในราชอาณาจักรไทยโดนผิดกฎหมาย” และยังได้จับกุมผู้ต้องหาซึ่งเป็นบุคคลต่างด้าวอีกจำนวน 4 คน โดยกล่าวหาว่า “หลบหนีเข้ามาในราชอาณาจักรไทยโดยผิดกฎหมาย” นำส่ง พงส.สภ.หัวหิน ดำเนินคดีตามกฎหมาย
จากกรณีดังกล่าว ได้มีการสืบสวนขยายผล รวมทั้งได้รับการอนุเคราะห์ข้อมูลเพิ่มเติมจาก พล.ท.วัฒนะ พลจันทร์ ผู้บัญชาการศูนย์รักษาความปลอดภัย กองบัญชาการกองทัพไทย (ศรภ.) จนทราบว่า ผู้ต้องหาทั้ง 2 รายดังกล่าว มีการกระทำผิดในลักษณะเป็นเครือข่ายค้ามนุษย์ข้ามชาติ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. จึงได้สั่งการให้ พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ/ผู้อำนวยการ ศพดส.ตร. และ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ/รองผู้อำนวยการ ศพดส.ตร. ให้ดำเนินการสืบสวนสอบสวนกรณีดังกล่าว โดยได้สั่งการให้ พ.ต.อ.เขมรินทร์ พิศมัย หัวหน้าชุดปฏิบัติการสืบสวน พร้อมพวก ทำการรวบรวมข้อมูลและพยานหลักฐานในกรณีดังกล่าว จนสามารถออกหมายจับเครือข่ายผู้กระทำความผิดได้ทั้งหมด 4 ราย ประกอบด้วยผู้ต้องหาต่างชาติ จำนวน 2 ราย และผู้ต้องหาชาวไทยจำนวน 2 ราย
ต่อมาเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2564 ภายใต้การบูรณาการระหว่างชุดปฏิบัติการสืบสวน ศพดส.ตร., บช.ก., บช.น., ภ.1, ภ.2, ภ.7 และ ศรภ. ได้ทำการจับกุม ผู้ต้องหาที่ได้ถูกออกหมายจับจากกรณีดังกล่าวได้จำนวน 4 ราย โดย ผตห. 1-3 ราย ทำหน้าที่ สั่งการและว่าจ้างให้มีการจัดส่งแรงงานชาวโรฮีนจาไปส่งยังที่หมาย และ ผจก.ที่ 4 ทำหน้าที่ นำพาแรงงานชาวโรฮีนจาจากชายแดนพม่า มายังที่พักในเขตบางบัวทอง ในฐานความผิด “มีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ โดยร่วมกันตั้งแต่สามคนขึ้นไป, เป็นธุระจัดหา พามาจาก หรือส่งไปยังที่ใด หน่วงเหนี่ยวกักขัง จัดให้อยู่อาศัย หรือรับไว้ซึ่งบุคคลใดโดยข่มขู่ ใช้กำลังบังคับ หลอกลวง ใช้อำนาจ โดยมิชอบ ใช้อำนาจครอบงำบุคคลด้วยเหตุที่อยู่ในภาวะ อ่อนด้อย ทางร่างกาย จิตใจ การศึกษา หรือทางอื่นโดยมิชอบ โดยมีความมุ่งหมายเพื่อเป็นการแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบต่อบุคคลใด และเด็ก อันเป็นความผิดฐานค้ามนุษย์ ด้วยการอื่นใดที่คล้ายคลึงอันเป็นการขูดรีดบุคคล ไม่ว่าบุคคลนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม, ร่วมกันพาคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรหรือกระทำการด้วยประการใดๆ อันเป็นการอุปการะหรือช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่คนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักร และรู้ว่าเป็นคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนกฎหมาย ให้เข้าพักอาศัยซ่อนเร้น หรือ ช่วยเหลือด้วยประการใดๆเพื่อให้พ้นการจับกุม”
โดยสามารถจับกุมตัวผู้ต้องหาลำดับที่ 1-3 ได้ในพื้นที่ สภ.บางบัวทอง จว.นนทบุรี และจับกุมตัวผู้ต้องหาลำดับที่ 4 ได้ในพื้นที่ อ.วังน้อย จว.อยุธยา จากนั้นจึงได้นำตัวผู้ต้องหาทั้งหมดส่ง พงส.สภ.หัวหิน เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
Maggi ภาพ/ข่าว
อ็อด อินทรีย์ รายงาน