"เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ" เยี่ยมโรงพยาบาลไทย
ศ.มูฮัมหมัด ยูนูส เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ มาเยือนประเทศไทย เยี่ยมชมความก้าวหน้าของโรงพยาบาลพร้อมแลกเปลี่ยนแนวคิดการทำงานสาธารณสุขเพื่อสังคม เผยเตรียมจัดสร้างโรงพยาบาลเพื่อสังคมในบังกลาเทศ ให้คนทุกระดับเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้อย่างทั่วถึง
ศาสตราจารย์มูฮัมหมัด ยูนูส นายธนาคารและนักเศรษฐศาสตร์ชาวบังกลาเทศ เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ พ.ศ.2549 และผู้ก่อตั้งธนาคารกรามีนหรือธนาคารเพื่อคนจน เดินทางเยือนประเทศไทยและเข้าเยี่ยมชมความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของโรงพยาบาลธนบุรี บำรุงเมือง เมื่อเย็นวันที่ 16 กันยายน 2565 พร้อมแลกเปลี่ยนแนวคิดการทำงานสาธารณสุขเพื่อสังคมและการรับมือวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 โดยมี นางสาวนลิน วนาสิน กรรมการบริหาร บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) และคณะผู้บริหารโรงพยาบาล ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น
ในโอกาสนี้ ศาสตราจารย์มูฮัมหมัด ยูนูส ได้ขึ้นกล่าวปราศัยบนเวที แสดงความยินดีที่ได้มีโอกาสเดินทางมาเยี่ยมชมความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและความพร้อมของโรงพยาบาลในประเทศไทย ที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้นำทางด้านการแพทย์ลำดับต้นๆ ของโลก พร้อมแลกเปลี่ยนแนวคิดกับผู้บริหารโรงพยาบาลในประเทศไทยในการทำงานสาธารณสุขเพื่อสังคม เนื่องจากมีแผนเตรียมจัดสร้างโรงพยาบาลเพื่อสังคมในบังกลาเทศ โดยมีเป้าหมายเพื่อให้คนทุกระดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนยากจน สามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้อย่างทั่วถึง ในราคาที่เหมาะสมและลดทอนเวลาในการรอรับการรักษา โดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาช่วยในการรักษา
“มีแค่คนที่มีรายได้สูงเท่านั้นที่จะได้รับการเข้าถึงทางการแพทย์ คนในระดับรากหญ้าเข้าไม่ถึงการแพทย์ ซึ่งนี่เป็นปัญหาในหลายๆ แห่ง แม้แต่ในสหรัฐอเมริกา เราควรนำการรักษาไปยังหน้าบ้านของคน เราจึงกำลังสร้าง Digital Healthcare โดยให้ผู้ป่วยโทรศัพท์หาหมอโดยตรง เพื่อให้แพทย์วินิจฉัยอาการผ่านทางโทรศัพท์ การรอการรักษาในบังกลาเทศอาจใช้เวลานานหลายชั่วโมง ซึ่งการทำแบบนี้จะช่วยลดทอนเวลาให้กับผู้ป่วยได้” ศาสตราจารย์ยูนูสกล่าว
ทั้งนี้ ในช่วงที่เกิดวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 นั้น พบว่าการให้บริการวัคซีนไม่มีความทั่วถึงและเท่าเทียม โดยพบปัญหาลิขสิทธิ์ในการถือครองวัคซีนโควิด-19 ในบางกลุ่มประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่มีความร่ำรวยได้มีการถือครองวัคซีนถึง 80% ของปริมาณวัคซีนทั้งหมด ทำให้เกิดปัญหาราคาวัคซีนแพงเกินความเป็นจริง “แนวคิดคือจะทำอย่างไรให้มีบริษัทที่ผลิตยาและดูแลการผลิตในลักษณะที่เป็น Social Business เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้อย่างครอบคลุม” ศาสตราจารย์ยูนูสกล่าว
นอกจากนี้ ศาสตราจารย์ยูนูส ยังกล่าวเชิญชวนให้ผู้ประกอบธุรกิจที่มีความสามารถในการทำกำไรได้หันมาให้ความสนใจและช่วยเหลือสังคมให้มากขึ้น โดยดำเนินธุรกิจในลักษณะ Social Business ซึ่งจะสนับสนุนให้การประกอบธุรกิจมีความยั่งยืนอีกด้วย“ในมุมมองของผู้ประกอบธุรกิจคือเน้นไปที่การสร้างผลกำไร แต่ผมเห็นว่าการมุ่งเน้นที่ผลกำไร pool มหาศาลไม่ใช่เรื่องที่จำเป็นเสมอไป แต่ควรมองในเรื่องการช่วยเหลือสังคม ซึ่งการช่วยเหลือสังคมก็สามารถสร้างผลกำไรให้แก่องค์กรในระยะยาวได้” ศาสตราจารย์ยูนูสกล่าว
พร้อมยกตัวอย่างว่า ในระหว่างการลงมือทำธุรกิจที่ช่วยเหลือสังคมควบคู่ไปด้วยนั้น กลับพบว่าสามารถ คลอบคลุมค่าใช้จ่าย และมีผลกำไรที่สามารถนำไปต่อยอดธุรกิจอื่นในการช่วยเหลือสังคมได้อีกต่อไป โดยการจัดตั้งโรงพยาบาลจักษุเพื่อรักษาผู้ป่วยที่ยากจนในบังกลาเทศแห่งที่ 2 จากผลของการจัดตั้งและทำธุรกิจโรงพยาบาลจักษุแห่งที่ 1 เป็นหนึ่งในตัวอย่าง นอกจากนี้ ยังจะสามารถจัดตั้งโรงพยาบาลจักษุได้เพิ่มปีละ 1 แห่ง อีกด้วย ปัจจุบันศาสตราจารย์ยูนูสได้จัดตั้งมูลนิธิกรามีน เพื่อสนับสนุนระบบการรักษาพยาบาลกว่า 155 แห่ง ทั่วประเทศ และยังมีแนวคิดที่จะจัดตั้งวิทยาลัยแพทย์และพยาบาล เพื่อผลิตแพทย์และพยาบาลให้เพียงพอ และอยู่ในระดับที่เหมาะสมกับระบบสาธารณสุขในประเทศอีกด้วย
อนึ่ง ศาสตราจารย์มูฮัมหมัด ยูนูส เป็นผู้ริเริ่มและพัฒนาแนวคิด “ไมโครเครดิต” หรือการให้กู้เงินโดยไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกันสำหรับผู้ประกอบการหรือชาวบ้านยากจน ทั้งยังเป็นผู้ก่อตั้ง “กรามีนแบงก์” หรือ “ธนาคารกรามีน” ธนาคารเพื่อคนจน ซึ่งเป็นโมเดลที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก ซึ่งทั้งศาสตราจารย์ยูนูสและธนาคารกรามีนที่เขาก่อตั้งขึ้น ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพร่วมกัน ในปี พ.ศ.2549 สำหรับความพยายามในการสร้างพัฒนาการทางสังคมและเศรษฐกิจจากฐานราก“สำหรับแนวคิดไมโครเครดิตนั้น เป็นแนวคิดที่ทำได้ในทุกประเทศของโลก ซึ่งหลายประเทศรวมถึงไทย ก็สามารถดำเนินการได้ อย่างไรก็ตามในหลายประเทศก็ไม่ประสบผลสำเร็จ เพราะธุรกิจมองในเรื่องผลกำไรเป็นหลัก” ศาสตราจารย์ยูนูสกล่าวทิ้งท้าย.
#สมาคมหนังสือพิมพ์ส่วนภูมิภาคแห่งประเทศไทย