ร่างกฎหมาย"อากาศสะอาดฯ" กำลังจะเข้าสภาฯ น.ต.วรวิทย์ เตชะสุภากูร ร.น. อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีฯและอนุ กมธ.การจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนฯ ได้โพสต์แชร์ข้อสังเกตและสรุปประเด็นของร่างฯ ลองตามกันดูว่า มีอะไรน่าสนใจบ้าง
พี่วิทย์ขอร่วมแชร์ข้อสังเกต 2 ข้อใหญ่ดังนี้ (ขอยาวนิดนึงครับ)
1.การมี กม.มีกระบวนการทางศาล ก็ดี เพราะเป็นหลักประกัน ที่มั่นคงถาวร แต่ในความเป็นจริงกระบวนพิจารณาคดีในชั้นศาล มีหลายขั้นตอน ใช้เวลามาก ทั้งยังเป็นการแก้เมื่อปัญหาเกิดแล้ว
ดังนั้น กม.รอง จึง ออกมาให้เร็วและทัน การณ์ คำนึงถึงการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุมากขึ้น เน้นการป้องกันก่อนปัญหาจะเกิด มากกว่าจะลงโทษเมื่อเกิดทำผิดแล้ว
2.แม้ว่าร่างกฏหมายนี้ จะเข้าการพิจารณาของรัฐสภาในเร็วๆ แต่การเผาป่า นาข้าว ไร่ข้าวโพด ได้เริ่มเกิดฝุ่นแล้ว ปีนี้ก็แล้งจากปรากฏการณ์เอลนิญโญ่ ป่าจะแห้ง ใบไม้และทุ่งหญ้าจะเยอะ เป็นเชื้อเพลิงอย่างดี
การทำความเข้าใจเหตุที่ทำให้เกิดการเผาในที่ดินการเกษตรและพื้นที่ป่าไม้ คงต้องเร่งใช้เครื่องมือทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมในการป้องกัน หรืออย่างน้อยก็ลดการจุดเผาลงให้ได้มากที่สุด
เพิ่มแนวใหม่ คือการใช้ข้อมูลและความรู้ "การวิเคราะห์จากข้อมูลดาวเทียม" จะช่วยให้รู้ทิศทางลม เเละจุดที่ตั้งการเริ่มเผา โดยดูจากสถิติที่ดาวเทียมที่บันทึกไว้มาตลอด20ปีย้อนหลัง
ต่อยอดอีกด้วยเราทุกภาคส่วนควรสื่อสารร่วมกับรัฐไปยังผู้ประกอบการนำเข้าเมล็ดข้าวโพดและอ้อยที่มาจากประเทศข้างเคียง ให้เร่งใช้มาตรการตรวจสอบย้อนกลับ เพื่อ "ไม่รับซื้อผลผลิตที่มาจากพื้นที่เผา" เพราะหลายปีแล้ว จุดความร้อนในไทยลดลง แต่ในประเทศเพื่อนบ้าน ยังพบจุดความร้อนเพิ่มขึ้น
สุดท้ายถ้าเพื่อนๆอยากรู้ว่า ร่างกฎหมายนี้ เขียนว่าอย่างไรบ้าง อ่านต่ออีกนิดครับ
สาระสำคัญ คือ
1. มีคณะกรรมการเพื่อการจัดการอากาศสะอาด ในระดับต่างๆดังนี้
1.1 คกก.นโยบายอากาศสะอาด ซึ่งมี นายกฯ เป็นประธาน ทำการขับเคลื่อนเชิงนโยบาย
1.2 คกก.บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด มี รมว. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธาน เพื่อขับเคลื่อนเชิงวิชาการ
1.3 คกก.อากาศสะอาดจังหวัด มีผู้ว่าฯจังหวัดเป็นประธานและ คกก. อากาศสะอาดพื้นที่เฉพาะ ซึ่งจะแต่งตั้งเมื่อมีสถานการณ์และระดับมลพิษทางอากาศในพื้นที่ใดเป็นการเฉพาะไปจัดการเชิงพื้นที่
2. กำหนดระบบการบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาดของประเทศ ซึ่งอย่างน้อยต้องมีมาตรฐานคุณภาพอากาศสะอาด ระบบเฝ้าระวังเพื่อคุณภาพอากาศสะอาด ระบบฐานข้อมูลคุณภาพอากาศแห่งชาติ กรอบแนวทางการพัฒนาระบบบริหารจัดการ และแผนปฏิบัติการการพัฒนาคุณภาพอากาศ
3. มาตรการการลดและควบคุมมลพิษทางอากาศ จากแหล่งกำเนิด 4 ประเภท
3.1 แหล่งฯสถานที่ถาวร
3.2 แหล่งฯเผาในที่โล่ง
3.3 แหล่งฯจากยานพาหนะ
และ3.4 แหล่งฯมลพิษข้ามแดน
4. กำหนดเขตเฝ้าระวังและเขตประสบมลพิษทางอากาศ เมื่อมีสถานการณ์พิเศษ
5. กำหนดเครื่องมือและมาตรการทางเศรษฐศาสตร์ เช่น ภาษีอากาศสะอาด ค่าธรรมเนียมการจัดการมลพิษ การกำหนดและโอนสิทธิในการระบายมลพิษทางอากาศ การประกันความเสี่ยง และมาตรการอุดหนุน สนับสนุน หรือส่งเสริมบุคคลหรือกิจกรรมสำหรับอากาศสะอาด
6. ความรับผิดทางแพ่งและบทกำหนดโทษต่างๆ
ติดตามความคืบหน้ากันต่อไป..ขอบคุณมาก..ที่อ่านมาถึงตรงนี้ครับ