เคยตัวรอภาพจากพีอาร์งาน จนลืมไปว่าคอนเสิร์ต #ยอดเพชร
11 กะรัต ได้ไปรับชมที่โรงละคร M Theatre ครั้งนี้ผู้อุปการะคุณเป็นคนวงการอื่น
กระนั้นเลยขออนุญาต พี่แหม่ม ดาราภาพยนตร์ Piyasuda Chantarasook ตรงนี้! ขอใช้ภาพที่ได้โพสต์ลงในเฟซบุ๊กมาประกอบ
ฟันเฟือง! ยอดเพชร 11 กะรัต ต้องขอชื่นชม Suda Chuenban สุดา ชื่นบาน ศิลปินแห่งชาติ อุปนายก #สมาคมดนตรีแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์
ฝ่ายบริหารสมาคมฯ มือประสานสิบทิศผู้เนรมิตให้เกิดคอนเสิร์ตทรงคุณค่าในครั้งนี้
ไลน์อัพศิลปินก็ล้วนแตกหน่อมาจากความใกล้ชิดสนิทเชื้อ เริ่มจาก 2 ศิลปินเพื่อนรัก ศรวณี โพธิเทศ กับ ฉันทนา กิติยพันธ์ คาบไปยัง #สามวิ อ.วิรัช อยู่ถาวร วิชัย ปุญญะยันต์ แห่งวง #ซิลเวอร์แซนด์ และ Vinai Phanturak วินัย พันธุรักษ์ ดิ อิมพอสซิเบิ้ล
ซึ่งล้วนต่างคว่ำหวอดอยู่ในวงการเพลงไทยสากลเล่นดนตรีตามบาร์ไนท์คลับในยุคโลลิต้า ซูซี่วอง ร่วมคัฟเวอร์ประกอบเพลงละคร, ภาพยนตร์ รวมถึงหนังโฆษณา
เปิดเวทีด้วย 2 เพลงสนุก "รำวงดาวพระศุกร์" กับ"ชื่นชีวิต เรียกน้ำย่อยดึงอารมณ์ผู้ชมสูงวัยให้กระชับขึ้น
ก่อนโชว์ไทม์ศิลปินเปิดตัวเพลงระดับคลาสสิค "ฝากรักไว้ในเพลง" ครูบุญช่วย กมลวาทิน แต่งไว้ก่อนเกิดสงครามโลก 2 ต้นฉบับ เติบ พันธ์งาม ร้องไว้ ๒๕ ปีต่อมาจินตนา สุขสถิตย์ ถึงได้บันทึกแผ่น
อีกเพลงของ ครูบุญช่วย กมลวาทิน "คิดจะปลูกต้นรัก" ครั้งนี้ฟังไม่ทัน! เลยไม่รู้ว่า อาต้อย-จินตนา ร้องขึ้นคำ "คิดจะปลูกต้นรักสักกอ" หรือ "คิดจะปลูก
ต้นรักอีกกอ"
อย่าถามเลยว่าชื่อไหนถูก? เพราะจินตนา สุขสถิตย์ บันทึกเสียงเพลงนี้มากกว่า 2 ครั้ง ก็ยังร้องคำขึ้นต้นเพลงเป็นทั้งสองแบบ
ชื่อถูกคือ เพลง"คิดจะปลูกต้นรักสักกอ" ครูบุญช่วย แต่งให้ละม่อม กมลวาทิน ผู้เป็นบุตรสาว ร้องไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2484 แผ่นครั่งเก่าแก่ หาฟังกันไม่ได้แล้ว ปี พ.ศ.2508 ครูแจ่ว-สง่า อารัมภีร ทำงานอยู่ที่บริษัทกมลสุโกศล นำมาบันทึกแผ่นใหม่
จินตนา สุขสถิตย์ ถ่ายทอดจนได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำพระราชทาน นักร้องหญิงชนะเลิศ ครั้งที่ 2 ปีพ.ศ.2509 ในงานเดียวกัน ครูบุญช่วย กมลวาทิน ได้รับรางวัลทำนองเพลงชนะเลิศ ในเพลงนี้
ย้ำอีกครั้ง! สุดา ชื่นบาน คงคู่คุณค่าศิลปินแห่งชาติ จริงๆ การเลือกศิลปินและบทเพลงยังแฝงไว้ด้วยเรื่องราวประวัติศาสตร์วงการเพลง มีตัวป้าเม้าท์เป็นแกนกลางหมุนวนจนรับรู้
อย่างคู่ดูโอ ฉันทนา กิติยพันธ์ ตัวติดแนบชิดใช่เพียงในไนท์คลับ ลูกเต้าก็ไล่เรียงกัน งานเพลงประกอบละคร ภาพยนตร์ ทั้งคู่โยนไม้รับส่งว่าเล่น
เพลง "หุ่นไล่กา" ที่ครูมนัส ปิติสานต์ ใส่จังหวะ วาตูซี่ น้ำเสียงกระชับแน่น ป้าเม้าท์-สุดา ลบภาพความน่ากลัวโดนใจลูกเด็กเล็กแดงหน้าจอแก้ว ส่วนบนจอเงิน ป้าเม้าท์ ก็ใช้เสียงร้องแทนนางเอกหลายเรื่องอยู่
ฝั่ง ป้าแดง-ฉันทนา ใช่ย่อย เพลง "ข้าวนอกนา" ได้ สมาชิกวง ดิ อิมพอสซิเบิ้ล มาเรียบเรียงจนคว้ารางวัลพระราชทานเสาอากาศทองคำ ปีพ.ศ.2519 พร้อมรางวัลเพลงประกอบภาพยนตร์ เวทีตุ๊กตาทองในปีเดียวกัน
อ้อ! เพลง "เกลียดคนสวย" ฉันทนา กิติยพันธ์ ก็ร้องประกอบในภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วยครับ!
อีกคนคู่ซี้ต่างขั้ว หญิงผู้มีน้ำเสียงคมดั่งคมศร เผยอปากทีเชื่องช้าไม่ทันป้าเม้าท์ (เป็นที่มาชื่อเล่นสุดา) ศรวณี โพธิเทศ นักร้องดาวรุ่งพรุ่งนี้สุนทราภรณ์ วาจาอาจอ้ำอึ้ง! แต่จิตใจเด็ดเดี่ยวนักที่กล้าทิ้งรายได้ประจำลาออกจากกรมประชาสัมพันธ์มาร้องเพลงห้องอาหาร ก่อนยอมควักเนื้อเงิน 5,000 บาท เพื่อผลิตผลงานเพลงของวินัย รุ่งอนันต์
มันเกินคุ้มครับ! เพราะเพลง “น้ำตาหรือจะแก้ปัญหาใจ" ปีต่อมาปี พ.ศ.2519 คว้ารางวัลเสาอากาศทองคำพระราชทาน
ศรวณี โพธิเทศ กลายเป็นเพชรเม็ดงาม ต่อเนื่องด้วยเพลง "ตะแลงแกงแทงใจ" ปีพ.ศ.2520 และเพลง "พะวงรัก" ปี พ.ศ.2521
สองเพลงหลังเป็นผลงานของหมอวราห์ วรเวช เป็นการคว้ารางวัลเสาอากาศทองคำ 3 ปีซ้อน และครั้งนึง! ศรวณี โพธิเทศ ได้นำเพลง "พะวงรัก"ไปประกวดจนชนะเลิศนักร้องยอดเยี่ยม คว้ารางวัลอารีรัง จากประเทศเกาหลีใต้
แปลกที่? ชื่อศรวณี โพธิเทศ และหมอ วราห์ วรเวช ถึงวันนี้ก็ยังไร้วี่แววเชิดชูเกียรติศิลปินแห่งชาติ
หมอวราห์ วรเวช ยังแต่งเพลงให้นักร้องท่านอื่นเพลง "รักต้องห้าม" บนเวทีนี้ขับร้องโดย อุมาพร บัวพึ่ง ซึ่งเคยคัฟเวอร์ จากต้นฉบับรังสิยา บรรณกร
อุมาพร บัวพึ่ง ดีกรีนักร้องชนะเลิศเวที "คนดังพาเลซ" ของ ยิ่งยง สะเด็ดยาด (ทวิชย์ โปสินธุ์) ทางไทยทีวีสีช่อง 3 เมื่อ พ.ศ. 2514
แม้จะเคยรับรางวัลนักร้องดีเด่น เสาอากาศทองคำ พระราชทาน ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2520 แต่ชื่อเสียงยังไม่เด่นดีนัก
ระหว่างที่ครูจงรัก จันทร์คณา กับครูพิมพ์ปฏิภาณ พึ่งธรรมจิตต์ ไปฟังหาที่เมรี่ไนต์คลับ พี่ต้อย-อุมาพรขอให้ครูจงรัก แต่งเพลงให้ "หนึ่งหญิงสองชาย" จากความทรงจำแม่ค้าคนสวย เรียงร้อยคำร้อง-ทำนอง จนโด่งดังคับฟ้าเมืองไทย
ช่วงปีพ.ศ.2519 เป็นต้นมาคือ ยุคทองวงการเพลงลูกกรุงไทย ที่นำทำนองเพลงต่างชาติมาใส่เนื้อคำร้องไทย
จิตติมา เจือใจ นักร้องรั้วจามจุรี โด่งดังมาตั้งแต่อัลบั้มชุดแรกแต่งโดย ทวีพงศ์ มณีนิล (ต่อมาคือคู่ชีวิต) เพลง "ถ้าหัวใจฉันมีปีก" ใช้ทำนองเพลงจีน โด่งดังต่อเนื่อง ไปถึงเพลง "หลักไม้เลื้อย" และ"คำแถลงการณ์ของหัวใจ"
รางวัลศิลปินแห่งชาติ ป้าเม้าท์-สุดา รับปีเดียวกันกับ รุ่งฤดี แพ่งผ่องใส "ดาวรุ่งพรุ่งนี้สุนทราภรณ์" อีกคนที่เลือกดำรงชีพร้องเพลงไนท์คลับ
หนึ่งในเพลงดัง "คนหน้าเดิม" ทวีพงศ์ มณีนิล ได้แต่งมอบให้กับมือ หลังกลับมาจากอเมริกา และไปหาที่โลลิต้าไนท์คลับ รุ่งฤดี แพ่งผ่องใส ร้องดีจนบทเพลงได้รางวัลเสาอากาศทองคำ คำร้องยอดเยี่ยม ปี พ.ศ.2519
พูดแต่นักร้องหญิง มาดูฝั่งผู้ชายกันบ้าง เด่นชัดไปที่วินัย พันธุรักษ์ หลังดิ อิมพอสซิเบิ้ล ยุบวง เศรษฐา ศิระฉายา ผันตัวสู่งานแสดง ปราจีน ทรงเผ่า อยู่เบื้องหลังปลุกปั้น เดอะฮอทเปปเปอร์ ซิงเกอร์
วินัย พันธุรักษ์ ยังคงขายเสียงเข้าร่วม
กับเต๋อ-เรวัติ พุทธินันทน์ ตั้งวงดนตรี ดิโอเรียลทัล
ฟรังค์และรับงานร้องเพลงไนท์คลับ
อารมณ์ความโดดเดี่ยว อาต๋อย-วินัย เตะตา อีส อารีย์ จึงแต่งเพลง "สิ้นกลิ่นดิน" ให้ร้อง คำขึ้นต้นโฉมยงค์ ดังกว่าชื่อเพลง สันติ เศวตวิมล จึงแนะให้ใช้อีกชื่อว่าเพลง โฉมยงค์
เพลง"สิ้นกลิ่นดิน" ได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำพระราชทานในปี พ.ศ.2524 ช่วงนั้น อีส อารีย์ ร่วมงานกับ วิชัย บุญญะยันต์ ทั้งคู่ยังได้ร่วมแต่งเพลง "รักในใจ" ต่อมาเปลี่ยนเป็น "ชู้ทางใจ" และเพลง "ชำมะเลียงเคียงใคร" ให้อาต๋อย ขับร้อง
วินัย พันธุรักษ์ ชื่นชอบรายการเกมโชว์ไปออกรายการเกมนัดบอด ถูกปิดตาให้สามสาวที่มาร่วมรายการสัมภาษณ์ พูดคุย คนที่เห็นว่าเหมาะสมได้รับรางวัลดินเนอร์
วันนั้นปรัศนีย์สาวผู้โชคดี ดีกรีแอร์โฮสเตสการบินไทย ต่อมาคือ เกษกนก พันธุรักษ์ คุณแม่ของสองลูกชาย น้องต็อง-น้องตังค์ คงรู้แล้วนะ? ชำมะเลียงเคียงใคร!
ยอดเพชร คือ ยอดเพชร ภาพของสุดา ชื่นบาน ไม่ว่าบนเวทีหอคอยงาช้าง หรือ ห้าง-ร้าน-ตลาด-ปั้มน้ำมัน เดอะโชว์ มัส โก ออน อุปนายกสมาคมดนตรีฯ ท่านนี้ คือ สุดยอดศิลปินแห่งชาติ ห่วงใยสารทุกข์สุขดิบสมาชิกทั้งองค์กร ไม่มุ่งหวังลาภยศสรรเสริญ
ภาพศิลปินนักร้องระดับตำนาน ที่พร้อมปล่อยวางเครดิตเหรียญโล่ห์ทรงเกียรติ ไปยืนร้องเพลงเปิดหมวก ดำรงชีพก็ส่วนหนึ่ง แต่ที่สำคัญ นี่คือ วิถีแห่งศิลปิน ไม่ขายวิญญาณไปกับอัตตา ตนอันเห็นแก่ตัว
คอนเสิร์ต #ยอดเพชร๑๑กะรัต พูดกันตรงๆ ทุกคนทำเพื่อสุดา ชื่นบาน เงินจำนวน 200,000 บาท เข้าสมาคมดนตรีแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อใช้เป็นสวัสดิการแก่สมาชิกสมาคมดนตรีฯที่เจ็บป่วย และ เสียชีวิต
ผู้ชมทุกคนได้ร่วมทำบุญ และเปรมปรีดิ์กับเสียงดนตรี เชื่อมั่นว่าครั้งหน้าจะมีอีก
สุดท้ายกราบขอบพระคุณ อาต๋อย-ชุติมา (วรฉัตร) เสวิกุล ที่มอบของขวัญวันเกิดปีนี้ ด้วยการเข้าร่วมรับชมคอนเสิร์ตครั้งยิ่งใหญ่
และกราบขอบพระคุณ ป้าเม้าท์-สุดา ชื่นบาน อีกครั้งที่เมตตาจะควักกระเป๋าซื้อบัตรให้เข้าชม
ผมบอกแล้วว่า ไม่ขอรับ! แต่พร้อมจะไปด้วยวิถีของคนรักเพลงลูกกรุง และเทิดทูนสุดา ชื่นบาน ศิลปินแห่งชาติ มาโดยตลอด
#คนกล่อมโลก