กรมศุลกากรนำของกลางที่คดีถึงที่สุดไปทำลาย
รวมมูลค่ากว่า 8.3 ล้านบาท
วันนี้ (12 กุมภาพันธ์ 2567) เวลา 09.30 น. นายพันธ์ทอง ลอยกุลนันท์ ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาและบริหารการจัดเก็บภาษี เป็นประธานในพิธีนำของกลางที่คดีถึงที่สุดไปทำลาย พร้อมด้วย
นายอภิชาติ ใจงาม ผู้เชี่ยวชาญด้านการสืบสวนและปราบปราม รักษาการผู้อำนวยการกองสืบสวนและปราบปราม นายอาวุธ วงศ์สวัสดิ์ รองอธิบดี กรมทรัพย์สินทางปัญญา ร.ต.อ. พลสัณห์ เทิดสงวน ผู้อำนวยการกองคดีทรัพย์สินทางปัญญา กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) พ.ต.อ.จักรกริช เสริบุตร รองผู้บังคับการ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (ปอศ.) และ พล.ต.ต.ชัชปัณฑกาณฑ์ คล้ายคลึง ผู้บังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 1 กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (สอท.) ร่วมพิธีดังกล่าว โดยของกลางที่นำไปทำลาย จำนวน 878,583 ชิ้น มูลค่า 8,375,966.81 บาท ณ ห้องโถง อาคาร 2 กรมศุลกากร
นายพันธ์ทอง ลอยกุลนันท์ ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาและบริหารการจัดเก็บภาษี เปิดเผยว่า
ตามที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีนโยบายให้กรมศุลกากร
ให้ความสำคัญกับการป้องกันและปราบปรามการลักลอบนำเข้าสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ สินค้าละเมิดเครื่องหมายการค้า บุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า และสินค้าประเภทอื่น ๆ อย่างเข้มงวด เพื่อรักษากลไกทางการตลาด และเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน โดยนายธีรัชย์ อัตนวานิช อธิบดีกรมศุลกากร ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรเข้มงวดกวดขันในการป้องกันและปราบปราม ผู้กระทำความผิดในการลักลอบ หลีกเลี่ยงนำเข้าสินค้าดังกล่าว อีกทั้ง ยังเน้นให้เจ้าหน้าที่กรมศุลกากรปฏิบัติงานร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมทรัพย์สิน
ทางปัญญา กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (ปอศ.) กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (สอท.) เพื่อให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพสูงสุดและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน สำหรับในวันนี้ กรมศุลกากร โดยกองสืบสวนและปราบปรามได้รวบรวมของกลางที่คดีถึงที่สุดแล้วและตกเป็นของแผ่นดินตามกฎหมายไปทำลาย อาทิ
บารากู่ บุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า สินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ สินค้าละเมิดเครื่องหมายการค้า และสินค้าอื่น ๆ จำนวนทั้งสิ้น 878,583 ชิ้น คิดเป็นมูลค่าทั้งหมด 8,375,966.81 บาท ซึ่งสินค้าบางรายการมีการลอกเลียนแบบและมีการลักลอบนำเข้ามาในราชอาณาจักร ถือเป็นการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาโดยประเทศไทยได้มีข้อตกลง
ที่จะร่วมมือในการป้องกันและปราบปรามการลักลอบนำเข้าสินค้าที่มีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อให้เกิดการยอมรับในระดับสากล รวมถึงสร้างมาตรฐานการปกป้องสังคม เพื่อประโยชน์ทางการค้าของผู้ประกอบการ
ที่สุจริตและประชาชนทั่วไป
นายพันธ์ทอง กล่าวต่ออีกว่า กรมศุลกากรจะนำของกลางที่คดีได้ถึงที่สุดและตกเป็นของแผ่นดิน
ตามกฎหมาย ไปทำลายโดยวิธีการเผาทำลาย ณ โรงกำจัดขยะผลิตไฟฟ้าเพื่อสิ่งแวดล้อม ศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขม ซึ่งอยู่ในการกำกับดูแลของบริษัท ซีแอนด์จี เอ็นไวรอนเมนทอล โปรเท็คชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2567 และทุบทำลายโดยใช้รถบด ณ บริษัท โกลเด้นดีพ (ประเทศไทย) จำกัด
จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2567