ผู้ว่าฯ ชัชชาติ จับมือ ป.ป.ส. ปลุกพลังชุมชน ร่วมต้านภัยยาเสพติดอย่างพร้อมเพรียงทั่วพื้นที่ กทม.
วันอังคารที่ 9 กรกฎาคม 2567 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานพิธีเปิดโครงการปลุกพลังชุมชนร่วมต้านภัยยาเสพติดตามแผนปฏิบัติการเร่งรัดการดำเนินงานป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด ระยะเร่งด่วน 3 เดือน (มิถุนายน - สิงหาคม 2567) ประจำปี 2567 ”
โดยมี นายอุดมชัย โลหณุต ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด กรุงเทพมหานคร (ผอ.ปปส.กทม.) พร้อมด้วย กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ผู้แทน บช.น. ปปส.กทม. ประธานเครือข่ายกองทุนแม่ของแผ่นดิน 50 เขต อาสาสมัครกรุงเทพมหานครเฝ้าระวังยาเสพติด หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด และประชาชนร่วมพิธี กว่า 1,100 คน ณ อาคารกีฬาเวสน์ 1 ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานครไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง กรุงเทพมหานคร
ในช่วงแรกก่อนพิธีเปิดโครงการฯ ภายในงานได้มีการแสดง จำนวน 2 ชุด โดยการแสดงชุดที่ 1 ชื่อชุด“แดนเซอร์ไซส์ ต้านภัยยาเสพติด” และ การแสดงชุดที่ 2 ชื่อชุด “ชักธงรบ สะบัดชัย” จากวงบราสแบนด์โรงเรียนสรุศักดิ์มนตรี จากนั้น ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ประกอบพิธีเปิดโครงการฯ และนำกล่าวประกาศเจตนารมณ์ต่อสู้กับยาเสพติด เนื่องในปี 2567 ซึ่งเป็นปีมหามงคล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ และงานปลุกพลังชุมชนต้านภัยยาเสพติดวันนี้ ประเทศไทยได้มุ่งมั่นรณรงค์ต่อต้านยาเสพติดมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อแสดงออกถึงความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ รวมทั้งเพื่อแสดงเจตนารมณ์และพลังความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ภายใต้กรอบแนวคิด “รวมพลังไทย สร้างครอบครัว ชุมชนอุ่นใจ พ้นภัยยาเสพติด เฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา มหาราชา” อันนำไปสู่จุดหมาย เพื่อให้สังคมไทยปลอดภัยจากยาเสพติดอย่างยั่งยืน ต่อมาผู้ว่าฯ และคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร/สำนักงาน ป.ป.ส./สำนักงาน ปปส.ภาค ได้มอบสื่อประชาสัมพันธ์ต้านภัยยาเสพติด ให้กับผู้แทนเครือข่ายกองทุนแม่กรุงเทพมหานคร จำนวน 6 พื้นที่ในกรุงเทพมหานคร ได้แก่ 1. กรุงเทพเหนือ 2. กรุงเทพกลาง 3. กรุงเทพใต้ 4. กรุงเทพตะวันออก 5.กรุงธนเหนือ และ 6. กรุงธนใต้ ทั้งนี้เพื่อเป็นสัญลักษณ์การปลุกพลัง และนำไปใช้ในการมีส่วนร่วมของประชาชนในแต่ละชุมชนในโอกาสต่างๆ และปิดท้ายกิจกรรมในวันนี้ด้วยการเยี่ยมชมบูธนิทรรศการภายในงาน
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า “ภัยยาเสพติด เป็นปัญหาที่นานาประเทศยอมรับว่า ต้องมีการแก้ปัญหาร่วมกันทั่วโลก ปัญหายาเสพติดกระทบถึงความมั่นคงของชาติ ถ้าคนในชาติ ลูกหลานของเราติดยาเสพติด ก็ส่งผลให้ประเทศชาติของเราอ่อนแอ ภัยยาเสพติดถือเป็นปัญหาของเราทุกคน ไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง เพราะไม่เพียงส่งผลกระทบต่อผู้เกี่ยวข้องเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อบุคคลรอบข้าง ครอบครัว และชุมชนเช่นกัน กรุงเทพมหานคร จึงได้ตระหนักและเล็งเห็นความสำคัญในการร่วมมือกันจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน เพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างจริงจัง โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับเด็กและเยาวชน
ซึ่งสถาบันครอบครัวและชุมชน ถือว่ามีส่วนสำคัญ ในการทำหน้าที่ช่วยสอดส่องดูแล เฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันไม่ให้เด็ก และเยาวชน ตกเป็นเหยี่อของยาเสพติด อีกทั้งการให้โอกาสผู้เคย เข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติดและมองพวกเขาด้วยความเข้าใจ เพื่อช่วยกันหาทางออก ส่งเสริม ให้เข้าสู่กระบวนการบำบัด และสามารถกลับมาใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างปกติสุขอีกครั้ง
ด้าน นายอุดมชัย โลหณุต ผอ.ปปส.กทม. กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อให้การขับเคลื่อนงานดังกล่าวบรรลุเป้าหมาย สำนักงาน ป.ป.ส.จึงได้เน้นการส่งสัญญาณทางนโยบาย การสร้างกระแสและปลุกพลังประชาชนของชุมชนในวงกว้าง ไม่คบค้าสมาคมกับผู้ค้ายาเสพติด กดดันให้ผู้ค้าหยุดการค้ายาเสพติด เป็นหูเป็นตาให้กับภาครัฐในการแจ้งเบาะแส แจ้งข่าวผู้ค้า รวมทั้ง การแจ้งเบาะแสยาเสพติดในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และลุกขึ้นสู้กับปัญหายาเสพติดร่วมกับภาครัฐอย่างจริงจัง ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครมีศูนย์บริการสาธารณสุข 68 แห่ง ตั้งอยู่ใน 50 เขต เปิดเป็นศูนย์คัดกรองผู้เสพผู้ติดยาเสพติด ซึ่งผู้สมัครใจเข้ารับการบำบัดรักษาสามารถติดต่อขอรับบริการได้ นอกจากนี้ กรุงเทพมหานครยังมีศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคม ทำหน้าที่ติดตามดูแลช่วยเหลือผู้ผ่านการบำบัดรักษา เช่น ให้ทุนประกอบอาชีพ ให้การศึกษา อบรมฝึกอาชีพ ร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ ในพื้นที่ เพื่อให้ผู้ผ่านการบำบัดสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้อย่างปกติ และไม่กลับมาสู่วงจรยาเสพติดอีก
ผอ.ปปส.กทม. กล่าวทิ้งท้ายเพิ่มเติมอีกว่า “การเสพยาเสพติด ถือเป็นความผิดและมีโทษจำคุก หากเจ้าหน้าที่ตรวจพบสารเสพติดในร่างกาย หรือตรวจพบสารเสพติดพร้อมกับยาบ้าไม่เกิน 1 เม็ด ตามกฎหมายมีโทษจำคุกสูงสุด 2 ปี แต่หากสมัครใจเข้ารับการบำบัดรักษา จึงจะถึงว่าผู้นั้นเป็น ผู้ป่วย และเมื่อเข้ารับการบำบัดรักษาจนจบโปรแกรมแล้ว จึงจะถึงว่าไม่มีความผิด และไม่เสียประวัติ โดย ปปส.กทม.ได้เร่งดำเนินการประสานทุกหน่วยที่เกี่ยวข้อง ค้นหาผู้เสพผู้ติดในชุมชนตามเป้าหมาย ปราบปรามและยึดทรัพย์ผู้ค้ายาเสพติด ตามข้อสั่งการเร่งด่วนของท่านนายกรัฐมนตรี”รวมถึงพี่น้องประชาชน สามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหายาเสพติดได้ โดยหากพบเบาะแสยาเสพติด สามารถแจ้งหน่วยงานของรัฐเข้าไปดำเนินการ หรือแจ้งได้ที่สายด่วน ป.ป.ส. โทร. 1386