ม.เกริก จัดประชุมวิชาการนวัตกรรมและเทคโนโลยีฯ ครั้งที่ 20 ระดมสมองสร้างคน สร้างชาติ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
มหาวิทยาลุยเกริก ตอกย้ำปรัชญาความรู้คู่คุณธรรม จัดประชุมวิชาการนวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อสังคมที่ยั่งยืน ครั้งที่ 20 มุ่งประสานแนวร่วมทั้งระดับชุมชนและระดับนานาชาติ บูรณาการองค์ความรู้ หนุนบุคลากรที่มีจริยธรรม เพื่อแลกเปลี่ยนนวัตกรรมที่มีประสิทธิภาพ นำไปใช้ได้พัฒนาชุมชนจนถึงระดับประเทศได้อย่างมั่นคงยั่งยืน
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานเปิดงาน กล่าวว่า การประชุมเกริกวิชาการระดับชาติและนานาชาติ ครั้งที่ 20 ประจำปี พ.ศ.2567 ภายใต้หัวข้อ นวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อสังคมที่ยั่งยืน หรือ Innovation and Technology for a Sustainable Society ในครั้งนี้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่มุ่งเน้นยกระดับศักยภาพของประเทศไทยในทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจสิ่งแวดล้อม และที่สำคัญคือคุณภาพชีวิตของประชาชน อีกทั้งยังสอดรับกับนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาวิจัยและนวัตกรรม ว่าด้วยการใช้งานวิจัยและนวัตกรรมแก้ไขปัญหาของประเทศ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ที่ล้วนแล้วแต่ต้องใช้ข้อมูล ความรู้ และวิทยาการต่างๆ เพื่อบรรลุผลสัมฤทธิ์ ซึ่งการประชุมครั้งนี้ได้เปิดโอกาสให้คณาจารย์ นักวิจัย นักศึกษา และภาคส่วนต่างๆ รวมมากกว่า 1,000 คนได้มาแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ และนำเสนอองค์ความรู้ที่ผ่านกระบวนการศึกษา ค้นคว้าวิจัย จนเกิดเป็นนวัตกรรมที่สามารถนำไปปรับใช้ได้จริง
ซึ่งมีส่วนช่วยกระตุ้นให้เกิดการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา และภาคประชาชนในการทำงานร่วมกัน
หัวข้อการประชุมยังได้ประยุกต์ยุทธศาสตร์ต่างๆ ของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 มาต่อยอดเพื่อทำให้การขับเคลื่อนแผนพัฒนาฯ ของประเทศบรรลุวัตถุประสงค์ อาทิ กลยุทธ์การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมแบบมุ่งเป้า เพื่อให้เกิดการยกระดับกระบวนการผลิต กลยุทธ์การสร้างความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน โลจิสติกส์ และดิจิทัล อีกทั้งกลยุทธ์การพัฒนาบุคลากร การศึกษา การวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรม ให้มีคุณภาพเพียงพอ และปรับตัวได้ทันต่อความต้องการของอุตสาหกรรมและบริการในพื้นที่ เพื่อรองรับการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมและบริการได้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูงเพื่อพลิกโฉมประเทศไปสู่การขับเคลื่อนที่ใช้นวัตกรรมเป็นฐาน เป็นต้น
“การประชุมวิชาการที่มหาวิทยาลัยเกริกจัดขึ้นครั้งนี้ได้ให้โอกาสนักวิจัยทั้งระดับชุมชน ระดับท้องถิ่น ระดับชาติ และนักวิจัยต่างชาติเข้าร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองระหว่างกัน เห็นได้จากการนำผลการวิจัยที่คณาจารย์และนักวิจัยชุมชนร่วมกันทำการวิจัยเพื่อพัฒนาชุมชนท้องถิ่นมานำเสนอ ร่วมกับการบรรยายพิเศษจากนักวิชาการของสาธารณรัฐอินโดนีเซีย ซึ่งจะทำให้ผู้เข้าร่วมประชุมมีโอกาสรับฟังทัศนะ แนวคิด รวมทั้งมุมมองใหม่ของประเทศในแถบอาเซียน ซึ่งสามารถนำมาประยุกต์กับบริบทของประเทศไทย สามารถเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้ร่วมประชุมสามารถเรียนรู้ตัวอย่างความสำเร็จในการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีในการพัฒนาสังคม พัฒนาคุณภาพชีวิต ช่วยส่งเสริมให้เกิดนักคิด นักสร้างสรรค์ ผู้นำการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ที่เป็นคนดี มีจริยธรรม คุณธรรม มีศักยภาพในการสร้างสังคมที่ยั่งยืน รวมไปถึงประโยชน์ต่อรัฐที่จะได้นำไปปรับใช้เพื่อกำหนดนโยบายของภาครัฐ และองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง