มทร.ธัญบุรี ดันงานวิจัยสู่ภาคอุตสาหกรรม จัดใหญ่ “RND2025” ผนึกกำลังรัฐ-เอกชน ยกระดับขีดความสามารถประเทศ
สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) จัดงาน Research for National Development: RND 2025 ภายใต้แนวคิด Collaborate. Innovate. Transform: Research for National Development เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาคการศึกษา ภาคอุตสาหกรรม และหน่วยงานรัฐ ในการขับเคลื่อนงานวิจัยสู่การใช้งานจริง พร้อมยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืน
โดยได้รับเกียรติจาก ดร.พันธุ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี ผู้ช่วยปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวปาฐกถาพิเศษ “ทิศทางการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ประเทศ” ซึ่งให้ภาพรวมของแนวนโยบายการพัฒนางานวิจัยที่เชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ชาติ และการนำผลวิจัยไปใช้ประโยชน์ทั้งในระดับนโยบายและภาคปฏิบัติ ณ ห้องบอลลูม โรงแรม S31 สุขุมวิท กรุงเทพฯ
ศ.ดร.กฤษณ์ชนม์ ภูมิกิตติพิชญ์ รองอธิการบดี มทร.ธัญบุรี เผยว่า บทบาทเชิงรุกของมหาวิทยาลัยในการเป็น “ศูนย์กลางความรู้” ที่เชื่อมโยงนักวิจัยกับภาคส่วนต่าง ๆ ผ่านแพลตฟอร์มเปิด โดยมีเป้าหมายเพื่อเร่งผลักดันนวัตกรรมจากแนวคิดสู่การใช้งานจริง ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และร่วมกันพัฒนาโจทย์วิจัยที่ตอบสนองต่อความต้องการของอุตสาหกรรม รวมถึงสร้างเครือข่ายความร่วมมือระดับชาติที่มีความเข้มแข็ง งาน RND2025 จึงเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญของ มทร.ธัญบุรี ในการยกระดับศักยภาพงานวิจัยของประเทศ พร้อมสร้างพื้นที่กลางสำหรับการบูรณาการทรัพยากรจากทุกภาคส่วน เพื่อผลักดันงานวิจัยและนวัตกรรมให้เป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนประเทศอย่างยั่งยืน
ขณะที่ รศ.ดร.เกียรติศักดิ์ แสงประดิษฐ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มทร.ธัญบุรี กล่าวเพิ่มเติมว่า RND2025 ถือเป็นจุดนัดพบของพลังความร่วมมือที่เปิดโอกาสให้นักวิจัยเข้าถึงแหล่งทุนจากหน่วยงานรัฐ และเชื่อมต่อกับภาคเอกชนในการพัฒนางานวิจัยให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการของสังคมไทยในระยะยาว โดยเฉพาะในบริบทของโลกที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม
ทั้งนี้ ภายในงานมีการบรรยายและเสวนาจากภาครัฐและเอกชนหลายภาคส่วน เริ่มต้นที่ ดร.ภาวดี อังค์วัฒนะ รองผู้อำนวยการ บพค. กล่าวถึงแนวทางการผลักดันนโยบายวิจัยที่ตอบโจทย์อุตสาหกรรมเป้าหมายในกลุ่ม S-Curve โดยสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งทุนเพื่อร่วมกันต่อยอดเทคโนโลยีขั้นสูง
คุณวฤต รัตนชื่น ผู้ช่วยผู้ว่าการวิจัย นวัตกรรม และพัฒนาธุรกิจ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นำเสนอการก้าวสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ผ่านการพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานสะอาด เช่น ระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ เทคโนโลยีจัดเก็บพลังงาน และระบบ AI เพื่อบริหารจัดการพลังงาน โดยเน้นย้ำถึงความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในด้านการวิจัยและพัฒนาแหล่งพลังงานหมุนเวียน เช่น โซลาร์เซลล์ พลังงานลม และไฮโดรเจน ทั้งยังมีการนำเสนอแนวทางการปรับเปลี่ยนองค์กรสู่ยุคดิจิทัล โดย คุณนพัตธร จิตรวิโรจน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทาวัต เมเนจเม้นท์ จำกัด ซึ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีในการยกระดับประสิทธิภาพการผลิตและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมอย่างเป็นรูปธรรม
โดยช่วงท้ายของงานได้มีการเปิดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อเสริมความเข้าใจเชิงลึกเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาโครงการวิจัยที่สามารถต่อยอดสู่การใช้ประโยชน์จริง และเข้าถึงแหล่งทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ.
/ฝ่ายข่าว กองประชาสัมพันธ์ มทร.ธัญบุรี.