วช. จับมือ ม.นเรศวร และจังหวัดพิษณุโลก เปิดตัวภาพยนตร์ ‘ฒ ผู้ เฒ่า (The Last Light)’ สะท้อนความรุนแรงในผู้สูงอายุผ่านงานวิจัยเพื่อสังคมไทยไร้ความรุนแรง
วันที่ 10 พฤษภาคม 2568 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยนเรศวร และสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จังหวัดพิษณุโลก จัดกิจกรรมเสวนาภาพยนตร์ ฒ ผู้ เฒ่า (The Last Light) ภายใต้โครงการวิจัยเรื่อง “SOA ชุมชนนวัตกรรมเฝ้าระวังความรุนแรงในผู้สูงอายุ” โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ มอบหมายให้นางสาวสตตกมล เกียรติพานิช ผู้อำนวยการกองบริหารทุนวิจัยและนวัตกรรม 2 เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรมดังกล่าว พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.วิชญานัน รัตนวิบูลย์สม คณบดีคณะบริหารธุรกิจเศรษฐศาสตร์และการสื่อสาร มหาวิทยาลัยนเรศวร และนางอรนุช ชัยชาญ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จังหวัดพิษณุโลก ให้การต้อนรับ ณ เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ สาขา รัชโยธิน
นางสาวสตตกมล เกียรติพานิช กล่าวว่า วช. มีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้รับเกียรติให้มาเปิดกิจกรรมเสวนาภาพยนตร์ ฒ ผู้ เฒ่า (The Last Light) ซึ่งเป็นผลผลิตหนึ่งภายใต้โครงการวิจัย “SOA ชุมชนนวัตกรรมเฝ้าระวังความรุนแรงในผู้สูงอายุ” ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจาก วช. ภายใต้กลุ่มเรื่องสังคมไทยไร้ความรุนแรง และขอแสดงความชื่นชม ต่อคณะนักวิจัย และมหาวิทยาลัยนเรศวรที่เป็นแหล่งสร้างองค์ความรู้ และเสนอมุมมองที่จะช่วยร่วมกันมองเห็น เข้าใจ และหาทางออกต่อปัญหาความรุนแรงในผู้สูงอายุในมิติต่าง ๆ ทั้งจากมุมของครอบครัว ชุมชน และสังคมผ่านการพัฒนาองค์ความรู้จากงานวิจัยไปเป็นนวัตกรรมสื่อเชิงสร้างสรรค์เพื่อให้ทำให้เข้าใจปัญหาได้ง่ายขึ้น วช. ให้ความสำคัญกับการใช้ผลงานวิจัยและนวัตกรรมในการแก้ไขปัญหาความรุนแรง โดยได้สนับสนุนแผนงานวิจัยสังคมไทย ไร้ความรุนแรงมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ได้แนวทางการพัฒนาเชิงปฏิบัติที่ช่วยลดความรุนแรงในสังคมทั้งในระดับครอบครัว ชุมชน และสังคมภายใต้เป้าหมายในการสร้างความเข้าใจร่วมกัน การอยู่ร่วมกันอย่างเคารพในความหลากหลายโดยมีผลงานวิจัยซึ่งก่อให้เกิดผลลัพธ์เชิงรูปธรรมและเกิดผลกระทบทางสังคมที่สามารถเห็นผลได้อย่างชัดเจน
รองศาสตราจารย์ ดร.วิชญานัน รัตนวิบูลย์สม กล่าวว่า ภาพยนตร์ ฒ ผู้ เฒ่า (The Last Light) และกิจกรรมเสวนาในครั้งนี้อยู่ภายใต้ทุนวิจัยด้านสังคมและความมั่นคง ภายใต้แผนงาน P14 พัฒนานโยบายและต้นแบบเพื่อสร้างสังคมไทยไร้ความรุนแรง ประชาชนมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน รวมทั้งสวัสดิภาพสาธารณะในการดำรงชีวิต เทคโนโลยี และนวัตกรรม แผนงานย่อยรายประเด็น : สังคมไทยไร้ความรุนแรง ซึ่งมีเป้าหมายของทุนวิจัยเพื่อลดความรุนแรงในสังคมไทย และประชาชนอยู่ร่วมกันอย่างสันติในสังคมที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน รวมทั้งสวัสดิภาพสาธารณะ ด้วยการใช้ผลงานวิจัย องค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม
นางอรนุช ชัยชาญ กล่าวว่า ในนามของจังหวัดพิษณุโลกขอขอบคุณที่ได้นำผลการวิจัยเรื่องความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับผู้สูงอายุในสังคมไทยมาจากการเข้าศึกษาประเด็นความรุนแรงในชุมชนหัวรอ ชุมชนจอมทอง อำเภอเมือง และชุมชนวังพิกุล อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก รวมทั้งการทำงานร่วมกันกับพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดพิษณุโลก และหน่วยงานราชการระดับท้องถิ่นในจังหวัดพิษณุโลก นอกจากนี้สถานที่สวยงามในภาพยนตร์เป็นสถานที่สำคัญของจังหวัดพิษณุโลก ซึ่งถือได้ว่าเป็นภาพยนตร์ของคนในจังหวัด ในฐานะที่จังหวัดพิษณุโลกจึงรู้สึกภูมิใจกับความงดงามของการเล่าเรื่องนวัตกรรมสื่อเชิงเนื้อหา แม้ประเด็นที่นำเสนอเป็นประเด็นความรุนแรงที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นกับผู้สูงอายุ ด้วยประโยคสำคัญ คือ ทุกความรุนแรงในชีวิตย่อมทิ้งทุก(ข์)ความเจ็บปวดเอาไว้เสมอ
ทั้งนี้ ภาพยนต์เรื่อง ฒ ผู้ เฒ่า (The Last Light) เป็นภาพยนตร์สร้างสรรค์ที่สะท้อนเรื่องราวของผู้สูงอายุในสังคมไทยที่พบเจอความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับตัวเอง ผ่านเรื่องราวใกล้ตัวและสามารถพบเห็นได้ในโลกความจริงในทุกวันนี้ ผ่านตัวละครหลักจากนักแสดงมากฝีมือทั้ง 3 ท่านคือ
คุณทนงศักดิ์ ศุภการ คุณปวีณา ชารีฟสกุล และการฝากฝีมือการแสดงเรื่องสุดท้ายของ คุณสีดา พัวพิมล ที่มาร่วมถ่ายทอดเรื่องราวของความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับผู้สูงอายุ ทั้งในเรื่องของความไม่ปลอดภัยจากแก็งคอลเซ็นเตอร์ที่ระบาดอยู่ในสังคมปัจจุบัน สร้างความเสียหายและความหวาดกลัวต่อกลุ่มผู้สูงอายุ ความไม่ปลอดภัยจากเหล่ามิจฉาชีพทั้งกลุ่มลักทรัพย์สินและการทำร้ายร่างกายถึงชีวิต กลุ่มลูกหลานเครือญาติเองที่ต้องกลายเป็นผู้สร้างความรุนแรงให้เกิดขึ้นกับผู้สูงอายุที่ติดเตียงอย่างทุกข์ทรมาน
การอยากจะจากโลกนี้ไปอย่างสงบไร้ซึ่งความเจ็บปวดแต่ไม่สามารถทำได้เอง เพราะความอ่อนแอ ในจิตใจและความเห็นแก่ตัวโดยไม่ตั้งใจของลูกหลานที่อยู่ข้างหลัง เหล่านี้ทำให้เห็นว่าความรุนแรงในผู้สูงอายุ เป็นเรื่องที่ต้องตระหนักและร่วมมือกันให้หมดไปจากสังคมไทย