ครูอุ้ม วอนผู้ปกครอง-นร.อย่าตื่นตระหนกข่าวลือโควิด-19 มอบ สพฐ. กำชับเขตพื้นที่ฯ-สถานศึกษาปฏิบัติตามมาตรการเฝ้าระวังต่อเนื่อง
พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เปิดเผยถึงข้อห่วงใยในการเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2568 นี้ โดยได้สั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เตรียมความพร้อมในการเปิดเรียนให้ดีที่สุด โดยเฉพาะในเรื่องการดูแลสุขภาพของนักเรียนและครู ซึ่งปรากฎเป็นข่าวผ่านสื่อบางแห่งถึงจำนวนผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) หรือ โควิด-19 เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ช่วงเทศกาลสงกรานต์ในเดือนเมษายนจนถึงปัจจุบัน ซึ่งอาจสร้างความวิตกกังวลในหมู่ประชาชนและสถานศึกษา
รมว.ศธ. กล่าวว่า จากการตรวจสอบข้อมูลของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ยืนยันว่า ขณะนี้ยังไม่พบการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในลักษณะที่รุนแรงหรือเป็นกลุ่มก้อน ส่วนข้อมูลที่เผยแพร่บางส่วนในสื่อสังคมออนไลน์นั้น เป็นข่าวเท็จ ซึ่งอาจมีเจตนาสร้างความวิตกกังวลให้แก่ประชาชน
ทั้งนี้ ข้อมูลล่าสุด ณ ปี 2568 พบผู้ป่วยสะสมจำนวน 41,197 ราย เสียชีวิต 15 ราย ซึ่งถือว่าต่ำกว่าช่วงเวลาเดียวกันในปี 2567 ที่มีผู้ป่วยมากถึง 777,730 ราย และเสียชีวิต 222 ราย โดยข้อมูลผู้ป่วยโควิด-19 ในปีนี้นั้น ถือว่าอยู่ในระดับที่คาดการณ์ไว้ เพราะโรคโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นที่สามารถพบผู้ป่วยได้ตลอดทั้งปี และมีแนวโน้มพบมากขึ้นในช่วงฤดูฝน ซึ่งตรงกับช่วงเปิดภาคเรียนปีการศึกษา 2568
"ขอให้ผู้ปกครองอย่าวิตกกังวลหรือตื่นตระหนกกับกระแสข่าวที่เกิดขึ้น และขอให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ และติดตามข่าวสารจากกรมควบคุมโรค ทั้งนี้ ได้มอบ สพฐ. ดำเนินการตามมาตรการทางสาธารณสุขอย่างใกล้ชิด ขอให้มั่นใจว่าเราจะดูแลความปลอดภัยของนักเรียนอย่างดีที่สุด เพื่อให้นักเรียนและครูในทุกพื้นที่ “เรียนดี มีความสุข” ในช่วงเปิดภาคเรียนใหม่นี้” รมว.ศธ. กล่าว
โดย ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวต่อประเด็นนี้ว่า แม้สถานการณ์โรคโควิด-19 ยังไม่อยู่ในระดับที่รุนแรง แต่ขอให้เขตพื้นที่และโรงเรียนทุกแห่งเฝ้าระวังและเตรียมความพร้อม โดยปฏิบัติตามมาตรการสร้างความปลอดภัยฯ เพื่อป้องกันโรคโควิด-19 ในสถานศึกษาอย่างเคร่งครัด ทั้งการบริหารจัดการภายในห้องเรียน ภายในโรงเรียน และบริเวณโดยรอบโรงเรียน มีการเตรียมพร้อมแผนเผชิญเหตุ มีการซักซ้อมต่าง ๆ รวมถึงทำความเข้าใจและสร้างการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการของชุมชนร่วมกันอย่างเข้มแข็ง หากมีความเสี่ยงหรือความไม่ปลอดภัยใด ๆ เกิดขึ้น การสื่อสารเพื่อแจ้งเหตุ และการประสานกับหน่วยงานเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ต้องดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพ โดยโรงเรียนไม่จำเป็นต้องปิดการเรียนการสอน แม้จะพบการติดเชื้อในโรงเรียน แต่ขอให้ปฏิบัติตามขั้นตอนของแผนเผชิญเหตุอย่างแม่นยำและรวดเร็ว โดยเป้าหมายสำคัญคือนักเรียนควรได้รับการเรียนรู้อย่างเต็มที่ที่โรงเรียน ส่วนเด็กที่ป่วยสามารถจัดการเรียนการสอนในรูปแบบอื่น ๆ เพื่อให้ได้รับการศึกษาอย่างต่อเนื่อง
ขอบคุณข้อมูล : ประชาสัมพันธ์ สพฐ.
นวรัตน์ รามสูต : เรียบเรียง
ทิพย์สุดา ศรีษะแก้ว : ถ่ายภาพ/กราฟิก
กลุ่มประชาสัมพันธ์ สร. : รายงาน
11/5/2568
#โควิด19 #เปิดเทอม68
#เรียนดีมีความสุข
#ฉลาดรู้ฉลาดคิดฉลาดทำ
#ศธ #การศึกษา
#จับมือไว้แล้วไปด้วยกัน