“ช่างเบิร์ด-ผู้รับเหมา ตึก สตง.” ร้องสภาฯ โดนเบี้ยวค่าแรงสร้างตึก ยอดรวมกว่า 10 ล้าน
วันพฤหัสบดีที่ 8 พฤษภาคม 2568 เวลา 14.00 นาฬิกา ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 อาคารรัฐสภา นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ประธานคณะ กมธ.การสวัสดิการสังคม รับยื่นหนังสือจากนายฐิติพงศ์ โพธิพรหม หรือช่างเบิร์ด เรื่อง ขอความเป็นธรรมกรณีไม่ได้รับค่าจ้างหรือเงินค่าตอบแทนจากการก่อสร้างโครงการอาคารที่ทำการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่
โดยนายฐิติพงศ์ โพธิพรหม และเพื่อน ๆ ที่ประกอบอาชีพช่างไฟฟ้า ช่างประปา เป็นผู้รับจ้างจาก บริษัท ก้าวพีเค จำกัด ให้เข้าร่วมดำเนินการก่อสร้างโครงการอาคารที่ทำการสำนักงาน สตง. แห่งใหม่ ตามที่ บริษัท ก้าวพีเค จำกัด ได้ว่าจ้างตามสัญญาว่าจ้าง ภายหลังจากที่ได้เข้าดำเนินการก่อสร้างโครงการดังกล่าวตามสัญญาและส่งมอบงานให้กับ บริษัท ก้าวพีเค จำกัด แล้ว แต่ปรากฏว่าทางบริษัทไม่ยอมชำระเงินค่าจ้างตามสัญญา โดยกล่าวว่ายังไม่ได้รับเงินจาก ITD -CREC และได้ทำเอกสารแจ้งการชำระหนี้โดยผัดผ่อนกับทางกลุ่มผู้รับเหมามาหลายครั้ง ขณะนี้แรงงานกว่า 500 คน ยังไม่ได้รับเงินค่าจ้างทั้งที่ส่งมอบงานไปแล้ว บางบริษัทได้หมดเงินไปกับการลงทุน บางรายต้องกู้ยืมเงินมาลงทุน บางรายต้องหมดเนื้อหมดตัว ขายทรัพย์สิน จำนองทรัพย์สิน กู้เงินในสถาบันการเงินต่าง ๆ มาเพื่อใช้ในการทำงานเพื่อให้งานสำเร็จเสร็จทันเวลา แต่สุดท้ายกลับไม่ได้รับเงินค่าจ้าง มีเพียงแต่การผัดผ่อน กล่าวอ้าง และเพิกเฉยไม่ยอมชำระเงินค่าจ้าง จึงขอความเป็นธรรมและขอให้คณะ กมธ. ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อช่วยเหลือเยียวยาจากกรณีดังกล่าว
นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ กล่าวว่า จากการพูดคุยกับกลุ่มแรงงานทราบว่า ค่าแรงที่แรงงานที่เป็นผู้รับเหมาช่วงยังไม่ได้รับเป็นเงินจำนวน 9.5 ล้านบาท ซึ่งเป็นค่าจ้างสำหรับแรงงานกว่า 500 ชีวิต ที่ขณะนี้ยังคงรอคอยค่าแรงจากการทำงานไปแล้ว และคนเหล่านี้มีความชอบธรรมที่จะได้รับค่าแรงจากการทำงานที่ได้ลงน้ำพักน้ำแรงไปแล้ว สตง. ต้องเป็นผู้นำและคลี่คลายปัญหานี้ ในส่วนคณะ กมธ. จะนำเรื่องเข้าที่ประชุมอย่างเร่งด่วน และจะเร่งทำหนังสือไปถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อให้ติดตามประเด็นการจ่ายค่าแรง ภาครัฐจะต้องเข้ามาปกป้องพี่น้องประชาชน ต้องเป็นผู้นำ และเป็นผู้ช่วยเหลือแรงงาน ช่วยประสานงานเจรจาให้มีการจ่ายค่าแรง ปัจจุบันนี้ ระบบการจัดจ้างการสร้างอาคารภาครัฐเป็นการรับเหมางานแบบหลายช่วง ซึ่งผู้ที่รับเคราะห์ท้ายที่สุดคือแรงงานคนไทย แต่ผู้ที่ได้รับผลกำไร คือผู้ประกอบการทุนยักษ์ใหญ่และจากต่างชาติ ระบบการจัดจ้างจะมีผู้ที่สามารถพูดคุยกับเจ้าหน้าที่รัฐหรือร่วมโครงการของรัฐจะรับงานก้อนใหญ่มาทั้งก้อน แล้วนำงานไปแจกจ่ายงานแต่ละหมวดงาน
ซึ่งมีทั้งการซื้อของ และส่วนของค่าแรง ในส่วนค่าของบริษัทได้กำไรไปแล้ว แต่ในส่วนค่าแรง ทั้งที่รับเงินมาแล้ว แต่ไม่มีการจ่าย โดยมักจะอ้างคำพูดเดิม ๆ ว่าจ่ายค่าของก่อน เพราะถ้าไม่มีของก็จะทำงานไม่ได้ สุดท้ายแรงงานเป็นผู้แบกรับ วันนี้แรงงานกว่า 500 ชีวิตยังไม่รู้อนาคตของตนเองว่าจะได้รับค่าแรงเมื่อไร