"พันธ์ทอง ลอยกุลนันท์' เผยกรมศุลฯจัดเก็บภาษีอากรอย่างเป็นธรรม โปร่งใส และมีประสิทธิภาพ พร้อมอำนวยความสะดวกทางการค้าและส่งเสริมระบบโลจิสติกส์ของประเทศ
วันที่ 25 พฤศจิกายน 2565 นายพันธ์ทอง ลอยกุลนันท์ รองอธิบดีกรมศุลกากร รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านการพัฒนาและบริหารการจัดเก็บภาษี ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร เปิดเผยว่า กรมศุลกากร มีการดำเนินงานเกี่ยวกับการอำนวยความสะดวกทางการค้าและส่งเสริมระบบโลจิสติกส์ของประเทศ การส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศด้วยมาตรการทางศุลกากรและข้อมูลการค้าระหว่างประเทศ การเพิ่มขีดความสามารถในการปกป้องสังคมให้ปลอดภัยด้วยระบบควบคุมทางศุลกากร และการจัดเก็บภาษีอากรอย่างเป็นธรรม โปร่งใส และมีประสิทธิภาพ ซึ่งในเดือนพฤศจิกายน 2565 มีผลงานที่น่าสนใจ ดังนี้
1. ความก้าวหน้าของระบบการเชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียว (National Single Window) และการเชื่อมโยงข้อมูลกับ ASEAN Single Window (ASW)
สถานะปัจจุบันของระบบการเชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียว (National Single Window) เชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนทั้งภายในประเทศ และระหว่างประเทศ มีความก้าวหน้าดังนี้
1.1 ระบบการเชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียว (National Single Window)
เปิดให้บริการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชนทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ โดยมีการเชื่อมโยงข้อมูลแบบไร้เอกสารระหว่างกรมศุลกากรกับผู้ประกอบการทั่วประเทศ และเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ รวมทั้งการเชื่อมโยงข้อมูลกับ ASEAN Single Window (ASW) รวม 105 ล้าน Transactions หรือเฉลี่ยประมาณเดือนละ 10.5 ล้าน Transactions มีผู้ประกอบการลงทะเบียนแลกเปลี่ยนข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ประมาณ 15,751 ราย ซึ่งเป็นตัวแทนผู้ประกอบการประมาณ 100,000 ราย ในการทำธุรกรรมเพื่อเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เกี่ยวข้องการนำเข้า การส่งออก การนำผ่าน และโลจิสติกส์ โดยมีหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานที่ทำหน้าที่แทนหน่วยงานภาครัฐ ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับระบบ NSW จำนวน 34 หน่วยงาน และหน่วยงานอื่น ๆ โดยแบ่งเป็นตามรูปแบบการเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลได้ ดังนี้
1) หน่วยงานที่เชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลแบบ G2G ผ่านระบบ NSW จำนวน 33 หน่วยงาน (สำหรับใช้ในการผ่านพิธีการศุลกากรแบบไร้เอกสาร ข้อมูลกระบวนงานที่เกี่ยวข้องกับโลจิสติกส์ ข้อมูลบัญชีสินค้าทางเรือ/อากาศยาน)
2) หน่วยงานเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลแบบ B2G ผ่านระบบ NSW จำนวน 22 หน่วยงาน
3) หน่วยงานเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลแบบ B2B ผ่านระบบ NSW จำนวน 5 หน่วยงาน/กลุ่ม
4) ธนาคารพาณิชย์ ที่ให้บริการ e-Payment และ e-Guarantee จำนวน 18 แห่ง
1.2 ความก้าวหน้าการพัฒนาระบบ NSW ในการเชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์กับ ASW
1.2.1 การเชื่อมโยงข้อมูล ATIGA e-FORM D
ประเทศไทยโดยกรมศุลกากร และกรมการค้าต่างประเทศ ได้เชื่อมโยงข้อมูล ATIGA e-FORM D กับประเทศสมาชิกอาเซียน เพื่อใช้ในการผ่านพิธีการศุลกากรแบบไร้เอกสารตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2562 ซึ่งขณะนี้ ครบทั้ง 10 ประเทศ ได้แก่ 1) อินโดนีเซีย 2) มาเลเซีย 3) สิงคโปร์ 4) ไทย 5) เวียดนาม 6) บรูไน 7) กัมพูชา 8) เมียนมา 9) สปป.ลาว และ 10) ฟิลิปปินส์ โดยมีสถิติการรับส่งข้อมูล ATIGA e-FORM D ตั้งแต่วันที่ 20 มกราคม 2563 – 31 ตุลาคม 2565 จำนวน 1,600,818 เอกสารอิเล็กทรอนิกส์
1.2.2 การเชื่อมโยงข้อมูล ASEAN Customs Declaration Document (ACDD)
ประเทศไทยได้เข้าร่วมการเชื่อมโยงข้อมูล ASEAN Customs Declaration Document (ACDD) อย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2564 ปัจจุบันเชื่อมโยงข้อมูล ACDD กับประเทศสมาชิกอาเซียนแล้ว 7 ประเทศ ประกอบด้วยกัมพูชา สิงคโปร์ มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และบรูไน โดยมีสถิติการรับส่งข้อมูล ACDD ตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2564 – 31 ตุลาคม 2565 จำนวน 945,278 เอกสารอิเล็กทรอนิกส์
1.2.3 การเชื่อมโยงใบรับรองสุขอนามัยพืช (e-Phyto Certificate)
การเชื่อมโยงใบรับรองสุขอนามัยพืช (e-Phyto Certificate) ประเทศสมาชิกได้ตัดสินใจที่จะปรับปรุงโครงสร้างข้อมูลของ e-Phyto Certificate ใหม่ ให้สอดคล้องกับมาตรฐานปัจจุบันที่ International Plant Protection Convention ใช้ เพื่อรองรับการเชื่อมโยงข้อมูลกับประเทศนอกอาเซียนได้ โดยปัจจุบันมีการรับรองโครงสร้างข้อมูลใหม่ของ e-Phyto Certificate เรียบร้อยแล้ว ซึ่งไทยและอินโดนีเซีย ได้เริ่มทดสอบเชื่อมโยงข้อมูลตามโครงสร้างใหม่ร่วมกัน ตั้งแต่วันที่ 22 ธันวาคม 2564 โดยมีกำหนดการเริ่มใช้งานอย่างเป็นทางการในวันที่ 12 ธันวาคม 2565
1.2.4 การเชื่อมโยงข้อมูลหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-CO) ระหว่างประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น
ไทยและญี่ปุ่น ได้มีการหารือทางเทคนิคอย่างไม่เป็นทางการเกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนข้อมูลหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-CO) ระหว่างประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น ซึ่งได้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และหารือประเด็นทางเทคนิคและกฎระเบียบเพื่อรองรับการเชื่อมโยงข้อมูล e-CO ระหว่างทั้ง 2 ประเทศ จำนวน 6 ครั้ง
1.3 สถานะการพัฒนากระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้า ส่งออก และโลจิสติกส์ สำหรับประกอบการผ่านพิธีการศุลกากรนำเข้า-ส่งออก (ราย Shipment) ผ่านระบบ NSW
ปัจจุบันกรมศุลกากรสามารถดำเนินการพัฒนากระบวนการที่เกี่ยวกับการนำเข้า ส่งออกและโลจิสติกส์ สำหรับประกอบการผ่านพิธีการศุลกากรนำเข้า ส่งออก ผ่านระบบ NSW ได้ถึง 444 กระบวนงาน จาก 473 กระบวนงาน(ร้อยละ 93.87) ซึ่งคาดว่าจะสามารถพัฒนาอีก 29 กระบวนงานให้บริการผ่านระบบ NSW ได้ในระยะเวลาอันใกล้
Maggi รายงาน