ระหว่างวันที่ 4-6 กุมภาพันธ์ นายวิทวัส ชัยภาคภูมิ รองเลขาธิการ สถาบันพระปกเกล้า นายศุภณัฐ เพิ่มพูนวิวัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล พร้อมคณาจารย์ และนักศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูงการเสริมสร้างสังคมสันติสุข รุ่นที่ 12 (4ส12) ศึกษาดูงานพื้นที่จังหวัดขอนแก่น
จุดแรกที่ห้องออร์คิด บอลรูม 3 โรงแรมพูลแมน ขอนแก่น กับเวทีแลกเปลี่ยนประเด็นการบริหารจัดการเมืองอย่างยั่งยืน ถอดบทเรียน “Khon Kaen Smart City and Low Carbon City” โดยนายธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธุ์ นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น พร้อมผู้เกี่ยวข้อง อธิบายถึงโครงการขนส่งมวลชนรางเบา (LRT) ของบริษัท ขอนแก่น ทรานซิท ซิสเต็ม จำกัด วิสาหกิจของ 5 เทศบาลในจังหวัดขอนแก่น ที่เป็นการพัฒนาด้านคมนาคมเพื่อรองรับการขยายตัวด้านการจราจรของเมือง
จังหวัดขอนแก่น มีประชากรมากที่สุดเป็นอันดับ 4 ของประเทศ อีกทั้งยังอยู่ตรงกลางของภาคอีสาน จึงเป็นเมืองศูนย์กลางของการพัฒนาในหลากหลายด้าน การที่เมืองขอนแก่นเติบโตอย่างรวดเร็ว ย่อมทำให้มีปัญหาอื่นๆตามมา ทั้ง ปัญหามลพิษ ความเหลื่อมล้ำในสังคม โดยเฉพาะปัญหาด้านระบบขนส่งมวลชน และช่องว่างของรายได้ของประชากร ลำพังเพียงงบประมาณจากภาครัฐมักเป็นการกระจายงบแบบรวมศูนย์ ไม่เพียงพอสำหรับการแก้ไขปัญหาได้
ปี 2556 นักธุรกิจในจังหวัดขอนแก่น ได้รวมกลุ่มกันเพื่อจัดตั้ง บริษัท ขอนแก่นพัฒนาเมือง จำกัด (Khon Kaen Think Thank - KKTT) โดยมีจุดประสงค์เพื่อพัฒนาเมืองขอนแก่นให้เติบโตอย่างมีศักยภาพ โดยระดมทุนร่วมกันจำนวน 200 ล้านบาท ก่อตั้งกองทุนพัฒนาเมือง บริหารเงินกองทุนโดย บริษัท ขอนแก่นพัฒนาเมือง จำกัด ในการขับเคลื่อนพัฒนา ระบบขนส่งมวลชนทางราง (Light Rail Transit system – LRT) ได้รับเงินสนับสนุนในการทำการศึกษาระบบรางที่เหมาะสมโดย สนข. และเกิดเป็นแผนแม่บทการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนของจังหวัดขอนแก่นขึ้นมา จำนวน 5 สาย พาดผ่านพื้นที่ 5 เขตเทศบาล
โดยรัฐบาลลงนามอนุมัติให้จัดทำ สายท่าพระ-สำราญ เป็นเส้นทางแรกเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2558 ต่อมาเดือนมีนาคม 2560 กระทรวงมหาดไทยอนุมัติให้ 5 เทศบาลในจังหวัดขอนแก่น จดทะเบียนจัดตั้ง บริษัท ขอนแก่นทรานซิสเต็ม จำกัด (KKTS) เพื่อบริการจัดการและจัดเก็บรายได้ระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ
ขอนแก่น Smart City มาตรฐานสากลนั้นประกอบไปด้วย 6 สาขา ได้แก่ Smart Mobility, Smart Living, Smart Citizen, Smart Economy, Smart Environment และ Smart Governance เป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีเพื่อให้เกิดความสะดวกสบายมากขึ้น และประชากรสามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม
จุดที่สอง รับฟังการบรรยายถึงกระบวนการมีส่วนร่วมเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไร้บ้าน จ.ขอนแก่น (บ้านโฮมแสนสุข) เป็น ‘ศูนย์ตั้งหลักชีวิต’ ช่วยลดความเหลื่อมล้ำของสังคม และการสร้างโอกาสการเข้าถึงบริการของรัฐ เพื่อให้เป็นสังคมที่ไม่ทอดทิ้งกันหรือไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ซึ่งในอนาคตศูนย์แห่งนี้จะเป็นที่ตั้งหลักของชีวิต พัฒนายกระดับคุณภาพชีวิตของคนไร้บ้านผ่านการทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นด้านความเป็นอยู่ ด้านกลุ่มอาชีพ ด้านสวัสดิการ การดูแลซึ่งกันและกัน เพื่อให้กลุ่มคนไร้บ้านมีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
จุดที่สาม ลงพื้นที่ศึกษากลุ่มหัตถกรรมคุ้มสุขโข บ้านดอนข่า อ.ชนบท เรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นแบบยั่งยืนและความเข้มแข็งของชุมชนผ่านเส้นทางผ้าไหม” ซึ่งจุดเด่นกลุ่มหัตถกรรมคุ้มสุขโข ของผ้าไหมมัดหมี่ย้อมสี ธรรมชาติด้วยน้ำจุลุลินทรีย์ เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านมาตรฐาน เป็นสากล สร้างชุมชนให้ยั่งยืน เป็นการยกระดับความสามารถด้านการผลิต นวัตกรรม การเชื่อมโยง และพัฒนาการต่อยอดธุรกิจให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน รวมทั้งทำให้ชุมชนได้สร้างงาน สร้างผลิตภัณฑ์ เพื่อตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยว
กลุ่มหัตถกรรมคุ้มสุขโข บ้านดอนข่า เป็นชุมชนต้นแบบการทอผ้าไหมมัดหมี่ โดยใช้เส้นไหมออร์แกนิก ซึ่งในแต่ขั้นตอนการผลิตไม่มีการใช้สารเคมีเข้ามาเป็นส่วนประกอบตั้งแต่การปลูกหม่อนโดยใช้ปุ๋ยธรรมชาติที่ได้จากการย้อมเส้นไหมแบบย้อมเย็น ซึ่งเป็นการย้อมที่ไม่ต้องใช้เชื้อเพลิงและสีที่นำมาย้อมก็นำมาจากวัสดุธรรมชาติ สำหรับลวดลายการทอและการผลิต ใช้การย้อมเย็น โดยนำเอาวัตถุดิบธรรมชาติที่ให้สีมาหมักเพื่อให้สีออกมา และใช้แสงแดดเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาในการย้อมให้ติดสี ซึ่งเป็นกรรมวิธีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดการใช้พลังงาน แล้วยังถนอมเส้นใยผ้าอีกด้วย ผ้ามัดเฉลิมพระเกียรติลายนพเก้า เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีชื่อเสียง เป็นสินค้า OTOP ระดับ 5 ดาว
ทั้งนี้ คณะนักศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูงการเสริมสร้างสังคมสันติสุข รุ่นที่ 12 ยังมอบห้องน้ำชุมชนในแหล่งท่องเที่ยว บริเวณศาลเจ้าพ่อมเหสักข์ อ.ชนบท เป็นกิจกรรมเพื่อสังคม เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายให้กับนักท่องเที่ยวและคนท้องถิ่น