สทท. ขานรับนโยบายรัฐบาลเศรษฐา ดันท่องเที่ยวเป็นวาระแห่งชาติ หนุนตั้ง Tourism War Room ขับเคลื่อนท่องเที่ยวแบบเรียลไทม์ พร้อมแถลงโครงการเสริมศักยภาพผู้สูงอายุในการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล กิจกรรม ความฝันไม่มีวันหมดอายุ
นายชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) และ รศ.ผกากรอง เทพรักษ์ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย ร่วมกันแถลงข่าว "ดัชนีชี้วัดผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวไทย" ตามด้วยการแถลงข่าว "โครงการเสริมศักยภาพผู้สูงอายุในการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล กิจกรรมความฝันไม่มีวันหมดอายุการใช้งาน"
โดยมี คุณภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นประธานกล่าวเปิดโครงการฯ รวมทั้งการเสวนา "ทำไมต้องมี โครงการเสริมศักยภาพผู้สูงอายุในการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล กิจกรรมความฝันไม่มีวันหมดอายุการใช้งาน" โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิและผู้กำกับหนังชื่อดัง
ได้แก่ นายธนิตย์ จิตนุกูล นายปรัชญา ปิ่นแก้ว คุณภรณี ภู่ประเสริฐ นายชำนาญ ศรีสวัสดิ์ นายราเชนท์ ลิ้มกตระกูล และบัณฑิต ทองดี
ร่วมเสวนา ดำเนินการโดยนายกฤตภาส ต๊ะประจำ ที่ปรึกษาโครงการฯ ท่ามกลางแขกผู้มีเกียรติ อาทิ นางสาวรพีรัตน์ ราชาพชร ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาลูกค้าสถาบันและองค์กรชุมชน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) และสื่อมวลชน ร่วมงานจำนวนมาก ณ ชั้น 10 อาคารการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ถนนเพชรบุรี แขวงมักกะสัน เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร เมื่อวันอังคารที่ 3 ตุลาคม 2566
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบธุรกิจการท่องเที่ยวไตรมาส 3/2566 อยู่ที่ระดับ 69 สะท้อนสถานการณ์ท่องเที่ยวที่ชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาส 1/2566 เป็นต้นมา เนื่องจากเป็นช่วงนอกฤดูกาลท่องเที่ยวของทั้งคนไทยและต่างชาติ ประกอบกับประชาชนมีความกังวลเกี่ยวกับสภาพเศรฐกิจไทยที่ยังไม่แน่นอนและหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นจากวิกฤติควิด-19 นอกจากนี้ยังกังวลเกี่ยวกับ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าน้ำมันที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
ช่วงต้นไตรมาสประชาชนมีความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนในการจัดตั้งรัฐบาลอาจจะส่งผลกระทบต่อการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจของประเทศในปีหน้า นอกจากนี้ภาคการส่งออกของไทยหดตัว 10 เดือนติดต่อกัน ส่งผลให้เม็ดเงินในมือของประชาชนน้อยลง จากปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ จึงส่งผลให้ประชาชนระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้น สถานการณ์ท่องเที่ยวไตรมาสนี้จึงต่ำกว่าไตรมาสที่ผ่านมา แต่ดีกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว และยังถือว่าต่ำกว่าปกติในระดับมาก (ปกติ 100) ร้อยละ 76 ของสถานประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวยังมีรายได้น้อยกว่าก่อนเกิดวิกฤตโควิด –19
โดยธุรกิจร้านอาหารมีรายได้มากที่สุด ประมาณร้อยละ 64 ของรายได้ก่อนเกิดวิกฤตโควิด–19 และร้านขายของฝากของที่ระลึกมีรายได้น้อยที่สุด ประมาณร้อยละ 46 กรุงเทพมหานครมีรายได้มากที่สุด ประมาณร้อยละ 59 ส่วนภาคตะวันออกและภาคตะวันตกมีรายได้น้อยที่สุด ประมาณร้อยละ 51
ขณะนี้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวมีจำนวนแรงงานประมาณร้อยละ 84 ของช่วงก่อนเกิดวิกฤตโควิด –19 น้อยกว่าก่อนเกิดวิกฤตโควิด –19 ประมาณร้อยละ 16 (คิดเป็นจำนวนแรงงาน ประมาณ 600,000 ตำแหน่ง) แต่มีสถานประกอบการเพียงร้อยละ 4 ที่ระบุว่าต้องการแรงงานเพิ่มในไตรมาสหน้า (ประมาณ 160,000 ตำแหน่ง)
ส่วนการคาดการณ์สถานการณ์ท่องเที่ยวไตรมาส 4/2566 ค่าดัชนีฯ อยู่ที่ 75 สะท้อนให้เห็นว่าผู้ประกอบการคาดว่าในไตรมาสหน้าสถานการณ์ท่องเที่ยวจะดีขึ้นกว่าไตรมาสนี้ เนื่องจากเป็นฤดูกาลท่องเที่ยวของคนไทยและต่างชาติ รวมทั้งมีวันหยุดยาวถึง 6 ช่วง และการจัดกิจกรรมในเทศกาลต่าง ๆ ในไตรมาสหน้าจะส่งผลต่อสถานการณ์ท่องเที่ยวให้ดีขึ้น
นายชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวว่า ถือเป็นข่าวดีที่รัฐบาลเศรษฐา ให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเป็นอันดับแรกๆ และตั้งเป้าแบบท้าทาย สร้างรายได้รวมจากการท่องเที่ยวไว้ที่ 4 ล้านล้านบาท โดยเน้นที่มูลค่ามากกว่าจำนวนนักท่องเที่ยว ทำให้ทุกภาคส่วนทั้งรัฐและเอกชน และต้องปรับกลยุทธใหม่ นอกจาก Restart แล้ว ยังต้อง Reboost ทั้งออกแบบสินคัาและบริการตอบโจทย์และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับนักท่องเที่ยวคุณภาพยุคใหม่
ในส่วนของภาคเอกชน เห็นการเดินหน้าเชิงรุก ทั้งเรื่องฟรีวีซา การพัฒนาสนามบิน การตั้งทีมยุทธศาสตร์ Softpower และการเติมบูสเตอร์ซอตต่างๆ แล้วมีความมั่นใจว่าภาคการท่องเที่ยวจะกลับมาเป็นเครื่องยนต์หลักที่ขับเคลื่อน GDP ของประเทศและกระจายรายได้ให้คนไทยทั้งประเทศได้อีกครั้ง เป้าหมายรายได้ 4 ล้านล้านบาทนั้น สามารถเกิดขึ้นได้ในอนาคตอันใกล้ หากทุกภาคส่วน เอกชน ภาครัฐทุกกระทรวง ร่วมกันทำงาน กำจัดอุปสรรค สร้างจุดแข็งร่วมกัน และเพื่อให้เกิดการทำงานแบบ RealTime ที่มีประสิทธิภาพ สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) ขอเสนอให้มีการตั้ง Tourism Warroom ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน โดยมี การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงดีอีเอส และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาร่วมกันสร้าง Tourism Big Data + Social Listening เพื่อทั้งรวบรวมข่าวสาร แก้เฟคนิวส์ ช่วยกันดูแลนักท่องเที่ยวให้ปลอดภัยและมั่นใจ รวมถึงการสร้าง Digital Content ที่มีพลังบวกให้สอดรับกับโอกาสใหม่ๆตามเทรนด์ที่เกิดขึ้น และมีการสรุปนโยบายเชิงเปรียบเทียบกับประเทศคู่แข่งเพื่อผลักดันโยบายเชิงรุกในยุค Tourism War Game นี้ที่หลายประเทศใช้ท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือ Quick win ในการฟื้นเศรษฐกิจหลังโควิด-19
สำหรับในส่วนของ "โครงการเสริมศักยภาพผู้สูงอายุในการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล กิจกรรม ความฝันไม่มีวันหมดอายุ" ที่ทางสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) นั้น ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของสถานการณ์ของผู้สูงอายุที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วส่งผลกระทบทั้งทางด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคมโดยรวม การเปลี่ยนแปลงบทบาททางสังคม และการเกษียณอายุ ผู้สูงอายุจะมีการเปลี่ยนแปลงของร่างกายไปในทางเสื่อมมากกว่าการเจริญเติบโต ขาดความคล่องแคล่วว่องไว การเคลื่อนไหวร่างกาย ความคิดความอ่านช้าลง สภาพทางร่างกายเสื่อมถอยของกล้ามเนื้อ กระดูกและข้อต่อ เป็นต้น
การเตรียมการเพื่อรองรับสถานการณ์สังคมสูงอายุจึงเป็นประเด็นที่สำคัญ จึงได้มีการจัดทำ "โครงการเสริมศักยภาพผู้สูงอายุในการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลภายใต้ กิจกรรมความฝันไม่มีวันหมดอายุ" เพื่อที่จะเชิญชวนผู้สูงอายุที่สนใจจากทั่วประเทศ ร่วมทำกิจกรรมความฝันไม่มีวันหมดอายุ เพื่อเสริมสร้างสุขภาวะ ผ่านการบอกกล่าวเล่าประสบการณ์ที่ผ่านมา เล่าเรื่องความประทับใจหรือสิ่งที่เป็นความฝัน ที่ประทับใจที่สุดในชีวิตที่ผ่านมา ผ่านการถ่ายด้วยมือถือหรืออุปกรณ์ที่ตนเองถนัด ส่งเป็นคลิปวีดีโอสั้นๆ ไม่เกิน 3-5 นาที เพื่อใช้ในการสมัครเข้าร่วมกิจกรรมความฝันไม่มีวันหมดอายุ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้สูงอายุได้ร่วมกันทำกิจกรรมด้านการท่องเที่ยวโดยชุมชนในประเทศ
โดยจะมีการส่งเสริมความรู้ด้านการผลิตสื่อคลิปวีดีโอสั้น ในด้านต่างๆ ดังนี้
1.สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล จะสอนในการเรียนรู้ทักษะทางด้านดิจิทัล (Digital Skill) ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญกับมนุษย์ทุกคน รวมไปถึงผู้สูงอายุด้วย เพราะทำให้เรารู้เท่าทัน มีความรอบคอบ ไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลลงในสื่อสาธารณะ การรักษาความปลอดภัยของตนเองเมื่ออยู่ในระหว่างการใช้งานสื่อออนไลน์ หนึ่งตัวอย่างของการใช้ประโยชน์จากใช้เทคโนโลยีได้อย่างสร้างสรรค์เริ่มต้นจากการการพัฒนาแอปพลิเคชันเพื่อพูดคุยกันได้อย่างง่ายดาย แม้ว่าตัวผู้สนทนานั้นจะอยู่ห่างไกลกัน และนับเป็นความคิดสร้างสรรค์ที่ขยับจากกิจวัตรทั่วไปที่เราคุ้นชินกันกับการทักทายด้วยการสวัสดีกัน มาสู่เทคโนโลยีใหม่แต่ยังคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ความเป็นไทยให้เป็นที่มองเห็นถึงกระบวนการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดรอบตัวเรา หนึ่งในการขยับตัวของผู้ใช้งานที่เป็นผู้สูงอายุที่น่าสนใจคือ การส่งรูปสวัสดีตอนเช้าในวันต่างๆ มีภาพพื้นหลังเป็นรูปดอกไม้ต่างๆ สีสันสวยงามตามวันนั้น เช่น สวัสดีวันจันทร์แล้วมีภาพพื้นหลังเป็นรูปดอกทานตะวันหรือดอกดาวเรืองบานหรือดอกที่มีสีเหลืองเพื่อสื่อถึงสีเหลืองของวันจันทร์ มีคำคม คำอวยพร เป็นต้น
2. สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จะบอกในเรื่องของบทบาท เป้าหมาย การสนับสนุนการพัฒนาและยกระดับการใช้เทคโนโลยีกับการผลิตสื่อวีดีโอสั้นของผู้สูงอายุ โดยการบอกกล่าวเล่าประสบการณ์ที่ผ่านมา เล่าเรื่องความประทับใจหรือสิ่งที่เป็นความฝัน ที่ประทับใจที่สุดในชีวิตที่ผ่านมา ผ่านการถ่ายด้วยมือถือหรืออุปกรณ์ที่ตนเองถนัด ส่งเป็นคลิปวีดีโอสั้นๆ ไม่เกิน 3-5 นาที เพื่อใช้ในการสมัครเข้าร่วมกิจกรรมความฝันไม่มีวันหมดอายุ
3. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นั้น จะให้ความสำคัญกับการผู้สูงอายุ เปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุได้ทดลองทำในสิ่งที่ไม่เคยทำหรือบางคนได้เติมเต็มความฝันให้เป็นจริง ผ่าน "ดินแดนแห่งความสุข' สามารถเชื่อมโยงกับเรื่องสุขภาวะหรือสุขภาพของผู้สูงอายุ ผู้สูงอายุตระหนักและเห็นคุณค่าของตนเองสังคมและช่วงวัยอื่นๆ เห็นศักยภาพของผู้สูงอายุในด้านดิจิทัล
4. ส่วนการขยายผลในวันนี้คือ
4.1 เพื่อเสริมทักษะการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลให้แก่ผู้สูงอายุที่เข้าร่วมโครงการ
4.2 เพื่อช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวและช่วยส่งเสริมให้ผู้สูงอายุ หันมาสนใจในการผลิตคลิปวีดีโอสั้นเพื่อสร้างเป็นรายได้
4.3 เพื่อกระตุ้นให้สังคม/ช่วงวัยอื่นๆ เห็นศักยภาพของผู้สูงอายุในด้านดิจิทัล