รัฐ-องค์กรเอกชนผนึกกำลังพัฒนาระบบดึงวัสดุเหลือใช้กลับสร้างมูลค่า สตาร์ทโครงการ Smart Recycling Hub นำร่องกรุงเทพฯ ขยายผลสู่ EEC นำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนมาประยุกต์ใช้เพื่อแก้ปัญหามลพิษจากวัสดุเหลือใช้ และเปลี่ยนขยะเป็นทรัพยากรเพื่อขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน
กรุงเทพฯ – 7 กันยายน 2566 Alliance to End Plastic Waste (AEPW) ร่วมกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC), โครงการความร่วมมือภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม เพื่อจัดการพลาสติกและขยะอย่างยั่งยืน (PPP Plastics) และภาคีเครือข่ายภาคเอกชน-ภาครัฐ ประกาศความร่วมมือภายใต้โครงการ “Smart Recycling Hub: Building Plastic Circularity Ecosystem” โดยมีเป้าหมายเพื่อจัดการพลาสติกใช้แล้วและวัสดุรีไซเคิลตั้งแต่ต้นทาง ป้องกันการเกิดขยะและการหลุดรอดสู่สิ่งแวดล้อม และเปลี่ยนเป็นวัตถุดิบคุณภาพสูงเพื่อหมุนเวียนในกระบวนการผลิตของอุตสาหกรรมต่างๆ
โครงการ Smart Recycling Hub พัฒนาขึ้นเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน ภายใต้วาระแห่งชาติ BCG Economy Model โดยจะจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อจัดการและแปรรูปวัสดุรีไซเคิลครบวงจร (Material Recovery Facility : MRF) แห่งแรกของประเทศไทย และมีเป้าหมายเพื่อนำขยะพลาสติกกลับเข้าสู่ระบบไม่ต่ำกว่า 50,000 ตันต่อปี โดยในระยะแรกจะศึกษาความเป็นไปได้และออกแบบโครงสร้างพื้นฐานของศูนย์ต้นแบบในกรุงเทพมหานครและพื้นที่ EEC 3 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา และจะนำข้อมูลที่ได้ไปใช้ในการวางแผนเพื่อดำเนินการสร้างศูนย์นวัตกรรมเศรษฐกิจหมุนเวียนฯ ต้นแบบในพื้นที่นำร่องต่อไป
ศูนย์นวัตกรรมเศรษฐกิจหมุนเวียนฯ จะจัดการพลาสติกและวัสดุรีไซเคิลตั้งแต่ต้นทางและและแปรรูปอย่างครบวงจรเพื่อเปลี่ยนเป็นวัตถุดิบคุณภาพสูง ที่สามารถนำไปหมุนเวียนใช้ในอุตสาหกรรมรีไซเคิลได้อย่างไม่รู้จบ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศษวัสดุ และสร้างรายได้
การร่วมมือในครั้งนี้ เกิดขึ้นจากการรวมตัวของพันธมิตรกว่า 20 องค์กร นำโดย Alliance to End Plastic Waste (AEPW) ), Public Private Partnership for Sustainable Plastic and Waste Management (PPP Plastics), สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.), สถาบันพลาสติก, กรุงเทพมหานคร และสมาชิกของ AEPW ในประเทศไทย ได้แก่ Dow, SCGC และ INSEE Ecocycle และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการพัฒนาและดำเนินโครงการ
“AEPW เป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไร ที่มีพันธกิจเพื่อป้องกันขยะพลาสติกปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม มีความยินดีที่ได้เห็นความมุ่งมั่นและความร่วมมือที่แข็งแกร่งระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมในการเดินหน้าให้เกิดการพัฒนาระบบการหมุนเวียนของพลาสติก เราพร้อมให้การสนับสนุนโครงการนี้เพื่อร่วมยกระดับการจัดการขยะพลาสติกในทุกมิติ พร้อมๆ กับการรักษาสิ่งแวดล้อม โดยโครงการนี้จะถือเป็นโมเดลระบบนิเวศ นวัตกรรมเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อจัดการและแปรรูปวัสดุรีไซเคิลครบวงจร แห่งแรกในภูมิภาคนี้" นายเจค็อบ ดูเออร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร AEPW กล่าว
“ในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท Dow และ ผู้แทนของ AEWP ผมประทับใจมากที่ได้เห็นการพัฒนาโครงการที่สำคัญนี้จนเป็นรูปเป็นร่างจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน ซึ่งแสดงให้เห็นชัดเจนว่าความร่วมมือกันอย่างเข้มแข็งนี้จะทำให้พวกเราประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนซึ่งจะช่วยนำชุมชนและประชาคมโลกก้าวไปสู่ความยั่งยืนอย่างแท้จริง” นายจิม ฟิทเทอร์ลิง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดาว (Dow) และ ประธานกรรมการ AEWP กล่าวเสริม
นายพรพรหม ณ.ส. วิกิตเศรฐ์ ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ด้านสิ่งแวดล้อม) กล่าวว่า “กทม. มีเป้าหมายผลักดันให้กรุงเทพฯเป็น “กรุงเทพเมืองสะอาด” ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของ กทม. ที่ได้มีการรณรงค์ "ไม่เทรวม" เพื่อเชิญชวนประชาชน และทุกภาคส่วน ให้มีส่วนร่วมคัดแยกขยะอินทรีย์ออกจากขยะทั่วไป วัสดุรีไซเคิล และขยะแห้ง ดังนั้น ความร่วมมือของทุกฝ่ายในครั้งนี้จึงเป็นจุดสำคัญในการส่งเสริมนโยบายและต่อยอดโครงการของ กทม. เพื่อสร้างคุณค่าของวัสดุเหลือใช้และมีส่วนสำคัญในการดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างถูกต้อง เป็นระบบ ทำให้สามารถลดปัญหาขยะและงบประมาณในการจัดการได้อีกทางหนึ่งด้วย”
ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศ (วว.)กล่าวว่า “การบูรณาการความร่วมมือขององค์กรที่มีศักยภาพเข้ามาเป็นพันธมิตร เพื่อการจัดตั้งศูนย์ฯ ในครั้งนี้ จะช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งและนำงานวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรม ของคนไทย ไปขยายผลให้เกิดการใช้งานจริง สู่การสร้างต้นแบบศูนย์นวัตกรรมเศรษฐกิจหมุนเวียน แบบครบวงจร ทำให้เกิดประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน สอดรับบริบทกับนโยบาย BCG Economy และทิศทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประชาคมโลก”
นายวีระ ขวัญเลิศจิต ผู้อำนวยการสถาบันพลาสติกแห่งประเทศไทย และฝ่ายเลขานุการ PPP Plastics กล่าวว่า “ข้อมูลที่ได้จากการศึกษาเบื้องต้นจากโครงการนี้จะนำไปใช้ในการพัฒนาและจัดตั้งระบบและต้นแบบในพื้นที่นำร่องเพื่อสร้างศูนย์คัดแยกและแปรรูปวัสดุใช้แล้ว Material Recovery Facility (MRF) โดยจะนำผลสำเร็จจากการตั้งศูนย์นำร่องนี้ไปขยายผลยังพื้นที่เป้าหมายอื่น ๆ ทั้งในกรุงเทพและ EEC ซึ่งศูนย์ฯ ดังกล่าว จะมีกลไกการทำงาน ในการคัดแยกวัสดุเหลือใช้ วัสดุรีไซเคิลและแปรรูปเบื้องต้น เพื่อเตรียมเป็นวัสดุรีไซเคิลที่สะอาด และมีคุณภาพสูง เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป”